นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เผยผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2556 ของ ธ.ก.ส. ( 1 เมษายน 2556 – 31 มีนาคม 2557) ว่า ได้จ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 144,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.55 ทำให้มียอดสินเชื่อที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทแล้วทั้งสิ้น 1,208,128 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการรับจำนำผลิตผลของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกงบการเงินอีกจำนวน 431,133 ล้านบาทจะทำให้ยอดการดำเนินงานด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 1,639,261 ล้านบาท โดยกระจายผ่านเครือข่ายสาขาที่ให้บริการจำนวน 1, 180 สาขา หน่อยอำเภอ 1,051 หน่วย และการให้บริการผ่านตู้ ATM ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศอีก 1,507 ตู้ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับบริการรวม 7.24 ล้านครัวเรือน มียอดเงินฝากรวม 1,152,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 151,054 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.09 ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่รับฝากจากประชาชนรายย่อย เช่น ออมทรัพย์พิเศษ ออมทรัพย์ทวีโชค
ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม 1,343,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.38 หนี้สินรวม 1,236,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.58 และส่วนของผู้ถือหุ้น 106,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.16 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 72,408 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 62,653 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.35 โดยแยกเป็นกำไรจากผลการดำเนินงานด้านสินเชื่อ 4,833 ล้านบาท รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ 2,334 ล้านบาท และรายได้จากการบริหารจัดการโครงการนโยบายรัฐ 2,588 ล้านบาท ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 4.10 เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 3.95 ด้านความสามารถในการทำกำไร ธ.ก.ส. บริหารสินทรัพย์ได้ผลตอบแทน(ROA) อัตราร้อยละ 0.78 ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.83 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 12.36 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของ ธ.ก.ส. ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50
นายลักษณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการสำคัญ เช่น โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส ได้ดำเนินการออกบัตรให้เกษตรกรจำนวน 4,081,201 ราย โดยมีการใช้จ่ายผ่านบัตรแล้ว จำนวนเงิน 31,815 ล้านบาท มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 12,023 ร้านค้า ทั้งนี้ได้มีการสนับสนุนให้ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อกำหนดคุณภาพสินค้าและมาตรฐานการให้บริการ โดยมีร้านค้าที่ผ่านการอบรมและได้รับการรับรอง Q-Shop แล้ว 534 ร้านค้า
โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี แบ่งเป็น โครงการพักชำระหนี้ปี 2554 (หนี้ค้างชำระ) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 335,144 ราย จำนวนเงิน 38,729 ล้านบาท และได้รับการอบรมหลักสูตรพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจำนวน 362,694 ราย และมีการออมเงินตามข้อตกลงของโครงการแล้ว 306,009 ราย จำนวนเงินออม 2,118 ล้านบาท โครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ปี 2555 (หนี้ปกติ)มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,522,954 ราย จำนวนเงิน 159,493 ล้านบาท แบ่งเป็นการพักเงินต้น จำนวน 1,425,921 ราย จำนวนเงิน 151,876 ล้านบาท และไม่ประสงค์พักเงินต้น จำนวน 97,003 จำนวนเงิน 7,617 ล้านบาท
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 จ่ายเงินกู้ให้เกษตรกรจำนวน 1,439,712 ราย ข้าวเปลือก 14.63 ล้านตัน จำนวนเงิน 234,720 ล้านบาท ครั้งที่ 2 จ่ายเงินกู้ให้เกษตรกรจำนวน 615,767 ราย ข้าวเปลือก 7.87 ล้านตัน จำนวนเงิน 117,556 ล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ผลการดำเนินงาน ณ วันปิดโครงการคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 มีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับใบประทวนทั้งสิ้น 1,527,290 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 11.62 ล้านตัน จำนวนเงิน 190,815 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรจนถึงวันที่ 31มีนาคม 2557 แล้ว 744,381 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 5.55 ล้านตัน จำนวนเงิน 90,799 ล้าน จากยอดจัดสรรรวม 94,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณและเงินจากการระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมาชำระหนี้คืน 93,000 ล้านบาท เงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนา 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงที่รอเงินรับจำนำข้าวจากรัฐบาลและยังขาดรายได้ ธ.ก.ส.ได้กำหนดมาตรการยืดเวลาชำระหนี้เดิม ที่เกษตรกรมีอยู่กับ ธ.ก.ส. ซึ่งครบกำหนดชำระภายในสิ้นปีบัญชีคือ 31 มีนาคม 2557 ออกไปอีก 6 เดือน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการยืดหนี้ดังกล่าวแล้วจำนวน 468,660 ราย คิดเป็นต้นเงินคงเป็นหนี้จำนวน 61,000 ล้านบาท และได้จัดสรรสินเชื่อก้อนใหม่ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้จ่ายในครัวเรือนหรือนำไปลงทุนในรอบการผลิตใหม่ เพื่อลดปัญหาการไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงและเป็นภาระหนักแก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรที่ยื่นขอกู้ ณ 8 เมษายน 2557 แล้วทั้งสิ้น 119,456 ราย จำนวนวงเงินกู้ 8,197 ล้านบาท และมีเกษตรกรที่ใช้วงเงินกู้ผ่านบัตรสินเชื่อจำนวน 487,755 ราย จำนวนเงิน 8,261 ล้านบาท จากมาตรการดังกล่าว ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากแล้วจำนวน 16,458 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวได้รับประโยชน์ในเบื้องต้น 607,211 ราย
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปีบัญชี 2557 ( 1 เมษายน 2557- 31 มีนาคม 2558) ธ.ก.ส. จะขยายปริมาณสินเชื่อลงสู่ภาคชนบทไม่ต่ำกว่า 108,000 ล้านบาทไม่รวมสินเชื่อนโยบายรัฐ โดยเน้นการสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain Financing) ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ของพืชอาหาร พืชพลังงานทดแทน สัตว์เศรษฐกิจ โดยใช้เครือข่ายชุมชนและขบวนการสหกรณ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อน สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือ Smart Farmer และสินเชื่อสนับสนุนลูกค้าผ่านโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร เป็นต้น ส่วนปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นจำนวน 90,000 ล้านบาท
นายลักษณ์กล่าวอีกว่า เพื่อเชื่อมโยงการบริการ ธ.ก.ส.ไปสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่คิดดอกเบี้ยในอัตรายุติธรรม มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว สามารถลดปัญหาการพึ่งพาเงินนอกระบบให้กับประชาชนในระดับฐานราก สอดคล้องกับนโยบายลดเส้นกั้นพรมแดนทางการเงินในภาคชนบทให้เท่าเทียมกับในเมือง ธ.ก.ส. ได้เข้าไปสนับสนุนการจัดวางระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่กองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนที่ ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้สถาบันการเงินชุมชนสามารถทำหน้าที่เป็นเครือข่าย ธ.ก.ส. (Banking Agent) เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 แห่งในปีนี้ และขยายสาขาในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มครบทุกเขต เพื่อรองรับการให้บริการกับประชาชนทั่วไปรวมถึงบุตรหลานเกษตรกร ที่สำคัญคือการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและด้านการตลาดเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาระบบการผลิตการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพรวบรวมผลผลิต 9 ผลผลิตหลัก ร้อยละ 10 ของผลผลิตรวม พัฒนาช่องทางตลาดผ่านระบบ E-Marketing สนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพสูง (Premium Product) ร่วมกับภาคราชการและพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตรให้สามารถทำหน้าที่เป็น Farmer’s Market