อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภคเครื่องดื่ม น้ำแข็ง ความสะอาดของภาชนะสัมผัสอาหารและมือของผู้ปรุงหรือสัมผัสอาหาร รวมทั้งหมด 256 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านเกณฑ์ฯ 84 ตัวอย่าง (ร้อยละ 32.8) สาเหตุเนื่องจากพบเชื้ออี.โคไล 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 18.3) และพบเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร 31 ตัวอย่าง (ร้อยละ 12.1) ในอาหารพร้อมบริโภค ยำต่างๆ เครื่องดื่ม น้ำแข็ง และพบเชื้อปนเปื้อนในภาชนะสำหรับใส่อาหารและมือของผู้ปรุงอาหารด้วย แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วพบว่าการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารพร้อมบริโภคที่ไม่ผ่านเกณฑ์ลดลงถึงร้อยละ 26 (จากร้อยละ 50.7 เป็นร้อยละ 24.7) แสดงว่าผู้จำหน่ายอาหารในสถานีขนส่งมีความรู้และมีการแก้ไขปรับปรุงด้านสุขลักษณะการเตรียมและจำหน่ายอาหาร ซึ่งกรมวิทย์ฯ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จะร่วมมือกับสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอาหารในร้านจำหน่ายอาหารในสถานีขนส่งทั้งสี่แห่ง โดยให้ความรู้และคำแนะนำด้านสุขอนามัยที่ดีและแจ้งสาเหตุการปนเปื้อนเชื้อโรคแก่ผู้ปรุงและผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในสถานีขนส่ง เพื่อให้มีการปรับปรุงและรักษาคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่มในส่วนที่ดีอยู่แล้วให้มีความยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้ประชาชนผู้บริโภคที่เดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เลือกรับซื้ออาหารที่ปรุงสุกทั่วถึง ดูสะอาด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทยำหรืออาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เลือกร้านที่ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดมีฝาปิด และอย่าลืมล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทาน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว