คุณสุพัฒน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย กล่าวว่า คณะกรรมการสมาพันธ์ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้แต่ละสมาคมช่วยกันถ่ายทอดข่าวสารไปยังสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการส่งข่าวไปถึงคู่ค้า ว่าสถานการณ์ในบ้านเรามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เห็นในข่าว ทำให้คู่ค้ามีความเชื่อมั่น”และเดินทางมาร่วมงานได้อย่างสบายใจ
“ในประเทศกลุ่มเป้าหมายเช่นยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับเหตุการณ์ด้านการเมืองมีความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางมาชมงาน ทางสมาพันธ์ฯ จึงได้ขอให้ทางกรมฯ นำงบประมาณที่ใช้กับลูกค้ากลุ่มนี้ มาใช้ในการเชิญชวนลูกค้าในกลุ่มอาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลาง ซึ่งลูกค้ากลุ่มอาเซียนและตะวันออกกลางเข้าร่วมงาน BIG+BIH มากขึ้นนอกจากนี้ ทางสมาพันธ์ฯ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ให้ร่วมกันเชื้อเชิญผู้ซื้อในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Modern Trade ห้างสรรพสินค้าร้านจำหน่ายสินค้าพรีเมี่ยมต่างๆ ให้เข้าร่วมชมงานด้วย”
ด้านประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน และเลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ คุณจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ร่วมให้รายละเอียดถึงภาพรวมอุตสาหกรรมว่า “งาน BIG+BIH ก่อให้เกิดมูลค่าการซื้อขายเป็นหลักพันล้าน การจัดงานครั้งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,242 คูหา ในปีนี้ ล่าสุดมีผู้สมัครเข้าร่วมงาน ณ ปัจจุบัน 1,194 คูหา ปีที่แล้ว ตัวเลขการส่งออกของกลุ่มอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ สร้างมูลค่าส่งออกเกือบๆ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ปีที่แล้วตัวเลขเรายังเป็นบวกอยู่ ตลาดส่งออกหลักประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์คือสหรัฐอเมริกา ตลาดอันดับสองคือญี่ปุ่น ตลาดหลักอันดับสามคือออสเตรเลีย ซึ่งขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 10 และมีการขยายตัวถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสัญญาณที่มีแนวโน้มดีมาก ในขณะที่ตลาดกลุ่มอาเซียน ซึ่งมี Growth Rate สูงมาก คือตลาดอันดับที่สี่ของอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ไทย ซึ่งประเทศเหล่านี้ซื้อสินค้าจากไทย 60-70 เปอร์เซ็นต์หรืออาจจะถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับตลาดยุโรปที่กำลังฟื้นตัวและมีแนวโน้มเป็นบวก สถานการณ์ในบ้านเราก็ขยายตัวต่อเนื่องประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์”
คุณจิรบูลย์ย้ำว่า “แม้จะผ่านอุปสรรค เจอวิกฤตมาตลอด 36 ครั้งที่ผ่านมา แต่เนื่องจากงานเราเป็น International Fair เราไม่สิทธิ์ที่จะเลิกจัด ซึ่งเราก้าวผ่านมาได้ทุกครั้ง ทั้ง 6 สมาคมจึงมีความเข้มแข็ง ในปีนี้งานแฟร์ใหญ่ๆ ระดับนานาชาติก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ยอดผู้เข้าร่วมงานลดลง 40-50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น งาน BIG+BIH ยอดผู้เข้าร่วมงานลดลงแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติมาก ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ได้เตรียมอำนวยความสะดวกแก่คู่ค้าและผู้ซื้อไทย-นานาชาติมากมาย อาทิ เจ้าหน้าที่ต้อนรับและอำนวยความสะดวก ณ สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง จัดเตรียมรถให้บริการรับส่งระหว่างสนามบิน โรงแรมที่พัก และสถานที่จัดงาน เพื่อตัดความกังวลในเรื่องการเดินทาง รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านโรงแรมที่พัก การจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ล่ามคอยบริการการจัดทำ BIG+BIH Passport ซึ่งมีส่วนลดโรงแรมที่พัก รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีบริเวณ Buyer Lounge ไว้สำหรับนักธุรกิจและผู้ซื้อซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการถึง 400-500 คนต่อวัน”
ประธานสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย แสดงความเชื่อมั่นว่าการจัดงาน BIG+BIH April 2014 จะประสบความสำเร็จอย่างงดงามเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา และยังได้ฝากถึงผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าภายในงานว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ขายสินค้าได้ คือผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องสรรหาสิ่งใหม่ๆ ค้นหาจุดเด่นในการขาย แม้ว่า ผู้ซื้อและผู้เข้าร่วมงานจะไม่มีมากมายเหลือล้น แต่เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีคุณภาพทั้งสิ้น ดังนั้นโอกาสที่ผู้ผลิตจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในการขายสินค้า
งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน เดือนเมษายน 2557 จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ด้วยความร่วมมือของสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน สมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย สมาคมการค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนไทย สมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย และสมาคมสินค้าตกแต่งบ้าน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยเปิดให้เจรจาธุรกิจ ระหว่างวันที่ 19 - 21 เมษายน 2557 เวลา 10.00 - 18.00 น. และจำหน่ายปลีก ระหว่างวันที่ 22 - 23 เมษายน 2557 เวลา 10.00 - 21.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0 2507 8372 หรือ 0 2507 8309 หรือที่เว็บไซต์ www.bigandbih.com และ www.ditp.go.th