ผู้คนทั่วโลกเกือบ 400,000 คนได้เรียกร้องไปยังพี แอนด์ จี ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าสารพัดชนิดรวมทั้งแชมพูยี่ห้อ เฮด แอนด์ โชวเดอร์ ให้เปลี่ยนวิธีการและมาตรการเพื่อยุติการทำลายถิ่นอาศัยของเสือสุมาตราและอุรังอุตัง และชนิดพันธุ์อื่นๆอีกหลายหลาก
การประท้วงที่มีอย่างต่อเนื่องทั่วโลกเล็งไปที่พฤติกรรมที่ไม่ดีนักของพี แอนด์ จี รวมทั้งที่สำนักงานใหญ่ในเมืองซินซินแนติ ในสหรัฐฯ ที่มีการประท้วงอย่างสันติโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซสหรัฐฯ แต่โดนข้อหาร้ายแรงหลายข้อหา
พี แอนด์ จี สัญญาที่จะกำหนดมาตรการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าในกระบวนการจัดหาน้ำมันปาล์มเพื่อการผลิตให้ได้ภายในปี 2563 นโยบายนี้ยังรุดหน้ากว่ามาตรการที่มีอยู่ของที่ประชุมโต๊ะกลมเพื่อน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน (RSPO) และยังเรียกร้องให้ผู้ส่งวัตถุดิบให้กับบริษัทให้การรับประกันว่าจะไม่มีการแปรสภาพพื้นดินพรุ รับประกันว่าสิทธิประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นจะได้รับการเคารพ และพื้นที่คาร์บอนสูงและพื้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในระดับสูงจะได้รับการปกป้อง
“ผู้คนหลายแสนคนทั่วโลกเรียกร้องให้ พี แอนด์ จี ไม่ใช้น้ำมันปาล์มที่เป็นต้นเหตุให้เสือและอุรังอุตังไม่มีบ้านอยู่” อารีบา ฮามิด ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซสากล กล่าว “คำมั่นสัญญาของ พี แอนด์ จี ในวันนี้เป็นความก้าวหน้าอีกประการหนึ่งของกระบวนการผลิตและเป็นการยุติการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนของโลก”
“แต่นโยบายนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะมีช่องโหว่ที่ให้ผู้ผลิตวัตถุดิบแผ้วถางป่าต่อไปได้อีกหกปีหรือมากกว่านี้ ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการสูญเสียระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว เราเรียกร้องไปยัง พี แอนด์จี ให้เร่งออกมาตรการต่อผู้ผลิตวัตถุดิบ เป็นต้นว่า มูซิม มาส และ เคแอลเค ซึ่งถูกชี้ตัวว่าเป็นบริษััทที่แผ้วถางป่าและพื้นที่พรุหลายแห่ง”
“พี แอนด์ จี จะต้องให้การรับประกันว่า สินค้าทุกชนิดปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า จึงจำเป็นต้องลงมือกระทำให้บรรลุผลด้วยคำมั่นสัญญาที่จะไม่ตัดไม้ทำลายป่ากับบริษัทป่าไม้ทุกแห่งที่เป็นแหล่งวัตถุดิบเช่นบริษัทผลิตเยื่อกระดาษ เป็นต้น”
ผลการศึกษาของกรีนพีซซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เน้นให้เห็นการฝ่าฝืนพันธสัญญาอย่างร้ายแรงของผู้ผลิตวัตถุดิบที่ส่งให้กับ พี แอนด์ จี และตามมาด้วยการประท้วงอย่างไม่พอใจของสาธารณชนมากกว่า 400,000 คน ที่ส่งอีเมลถึงซีอีโอของบริษัท เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนนโยบาย
การประกาศเกิดขึ้นหลังจากผู้ค้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่และบริษัทผลิตสินค้าเพื่อบริโภคอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ลอรีอัล คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ วิลมาร์ และ GAR ได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าในสายการผลิต
สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติด้วยความจริงใจและอย่างมีความหมายในอุตสาหกรรมหนึ่งนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย รวมถึงการโยกย้ายถิ่นอาศัยของชุมชนท้องถิ่น และการทำลายถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์หายากและระบบนิเวศที่มีคุณค่า
“นโยบายของ พี แอนด์ จี เป็นหลักฐานถึงการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่เมื่อผู้บริโภคเรียกร้องที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากการทำลายป่า ไปจนถึงผู้ค้าและผู้ผลิตอย่าง วิลมาร์ และ GAR ที่จำต้องปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไปใช้น้ำมันปาล์มอย่างรับผิดชอบ ซึ่งได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่อย่างรวดเร็ว” อารีบา ฮามิด กล่าว
หมายเหตุ
1) นโยบายน้ำมันปาล์มของ พี แอนด์ จี ดูได้ที่ http://www.pg.com/en_US/sustainability/policies_practices/palmoil.shtml
2) ผลการสืบค้นจากการสืบสวนของกรีนพีซสากล เกี่ยวเนื่องกับ พี แอนด์จี และทำลายป่าฝนเขตร้อน คลิกที่นี่ http://bit.ly/1dwm2i0
3) ฉบับย่อของระเบียบวิธี HCS ดูได้ที่ http://www.greenpeace.org/international/Global/international/briefings/forests/2014/HCS%20Approach_Breifer_March2014.pdf