ก.ยุติธรรมจับมือ EGA ก้าวเข้าสู่ยุคบริหารงานแบบออนไลน์ ดันทุกกรมกองใช้เครือข่ายเดียวกัน

พุธ ๑๖ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๑:๒๖
ก.ยุติธรรมจับมือ EGA ก้าวเข้าสู่ยุคบริหารงานแบบออนไลน์ ดันทุกกรมกองใช้เครือข่าย เดียวกัน ประเดิมระบบสารบรรณออนไลน์ จัดระบบเอกสารเข้าออกแบบไร้กระดาษเชื่อมทั่วประเทศ ด้าน EGA เตรียมเดินแผนจับหน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาพร้อมแยกระบบคลาวด์เฉพาะทาง

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากเริ่มระบบการบริหารงานด้วยโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์มาระยะหนึ่งแล้ว แผนงานต่อจากนี้คือการเชื่อมต่อระบบทั้งหมดเข้ากับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับกรม กอง และสำนักในกระทรวงยุติธรรมด้วยกัน ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เพื่อใช้ บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network: GIN) และ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ( e-Saraban ) ภายใต้โครงการ Software as a Service ทำให้กระทรวงยุติธรรมจะอยู่บนเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด และการส่งไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งในหน่วยงานเดียวกันและหน่วยงานภายในกระทรวงยุติธรรมจะใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกันกับหน่วยงานรัฐอื่นทั้งหมด จะเป็นระบบที่ใช้เฉพาะ ไม่ปะปนกับเครือข่ายภายนอก ทำให้เกิดความไว้วางใจในระบบได้มากขึ้น การแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในกระทรวงจะเป็นหนึ่งเดียวกัน และเตรียมพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงอื่นๆ ต่อไป

ก่อนหน้านี้โอกาสที่จะเชื่อมต่อกันทุกหน่วยงานจะเกิดขึ้นได้แทบจะเป็นศูนย์ เนื่องด้วยเทคโนโลยีไม่เอื้อ ทำให้การเชื่อมต่อต้องใช้ทั้งงบประมาณและเวลาที่สูงมาก แต่หลังจากที่รัฐบาลมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแลเรื่อง รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมอบหมายให้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ทำให้ความคิดรวบยอดในการจัดการเรื่องนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ยิ่งทางสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมได้เห็นความเป็นรูปธรรมอันเกิดขึ้นระหว่างการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง EGA และกรมบังคับคดี ซึ่งในครั้งนั้น ทางกรมบังคับคดีได้ขอใช้ GIN หรือ Government Information Network ทำให้ระบบการเชื่อมต่อของกรมบังคับคดีทั่วประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าไปใช้ระบบ Cloud Computing ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัย และทำให้การใช้งานผ่านออนไลน์เกิดขึ้นได้ ทำให้กระทรวงยุติธรรมเองเห็นประโยชน์ของการลงนามในครั้งนั้นอย่างมาก

ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรม มีสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานกิจการยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมราชทัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ และองค์การมหาชนอื่นๆ จัดเป็นหน่วยงานที่มีเรื่องราวที่สอดคล้องกันภายใน และเชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอื่นๆ อีกจำนวนมาก ดังนั้น ความจำเป็นในการเชื่อมข้อมูลระหว่างกันเพื่อทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีการหารือกันมาโดยตลอด

ดังนั้น แนวคิดที่จะทำให้ระบบงานในกระทรวงยุติธรรมสามารถต่อเชื่อมระหว่างกัน และสามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีของ EGA ไม่ว่าจะเป็น GIN ที่ก็คือเครือข่ายออนไลน์ระบบปิดที่ใช้งานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน และสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วตามความต้องการใช้งานจริง รวมถึงมีระบบรักษาความปลอดภัย และมีการเสริมข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาได้ทันที เช่น หมายเลข 13 หลักของบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครอง, การเชื่อมต่อกับระบบทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบก และอื่นๆ เท่ากับทำให้การทำงานของกระทรวงยุติธรรมเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นออนไลน์เชื่อมต่อกันได้สมบูรณ์แบบต่อไป

ในส่วนของเครือข่ายที่กระทรวงยุติธรรมจะใช้ของ EGA ในครั้งนี้ แน่นอนเป็นเครือข่ายที่สนับสนุน โดยภาครัฐบาลไม่มีค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นจะเป็นในรูปแบบของความสมัครใจ นั่นคือ หน่วยงาน กรม กอง ที่มีเครือข่ายเดิมอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่จะต้องมีเครือข่ายของ EGA มาสำรองเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นจะค่อยๆ ปรับให้เครือข่าย GIN กลายเป็นเครือข่ายหลักของกระทรวงยุติธรรมต่อไป

ในเรื่องของ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ( e-Saraban ) ภายใต้โครงการ Software as a Service ที่ทางกระทรวงยุติธรรมเลือกใช้กับ EGA ก็เช่นเดียวกัน สาเหตุจากระบบสารบรรณของหน่วยงาน ภายในกระทรวงยุติธรรมยังมีความลักลั่นกันอยู่ บางหน่วยงานเลือกซอฟต์แวร์สารบรรณแบบมาตรฐาน บางหน่วยงานพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเอง บางหน่วยงานยังไม่มีระบบสารบรรณที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับความจำเป็นก่อนหลัง โดยเฉพาะข้อจำกัดในด้านงบประมาณและความสามารถในการดูแลระบบ แต่เมื่อเกิดการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ ก็จะทำให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมมีระบบสารบรรณที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์ที่ทันสมัยที่สุดในทันที ระบบนี้มีข้อดีคือ เป็นระบบมาตรฐานที่ EGA ตรวจสอบและรองรับแล้วว่าจะทำให้ระบบสารบรรณ สามารถใช้งานข้ามหน่วยงานกันได้ ไม่จำเป็นต้องมาทำเอกสารซ้ำซ้อน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีระบบสารบรรณเดิมอยู่แล้ว จะไม่มีการบังคับให้ยกเลิกระบบดังกล่าว แต่จะมีการค่อยๆ ปรับให้มาอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน โดยทาง EGA จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในด้านนี้ โดย เป้าหมายคือ ต้องทำให้ทุกหน่วยงานสามารถส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ถึงกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ กระดาษอีก

ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เดินหน้าเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน และการบริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น สำนักงานกิจการยุติธรรม ที่ขณะนี้ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล ระบบ exchange หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เช่น อัยการ ตำรวจ ขนส่ง ฯลฯ ถือเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทำให้การทำงานในกระบวนการยุติธรรมไหลลื่น และถือเป็นหน่วยงานที่ใช้ระบบ GIN ของ EGA อย่างหนักหน่วง โดยใช้ทั้งในส่วนของสำนักงาน และศูนย์ไอที ซึ่งถือว่าเป็นระบบ ที่มีความปลอดภัยสูง มาก และที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก EGA ทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลในกระบวน การยุติธรรมก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง การบริหารงานและการบริการประชาชนก็ดีขึ้นตามลำดับ

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ก็นับว่าเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่นำระบบออนไลน์มาใช้ในการให้บริการประชาชนแล้ว โดยล่าสุดได้นำระบบ VDO Conference ของ EGA มาใช้แทนระบบ Skype ที่ยังไม่ เสถียรมาให้บริการในระบบเยี่ยมญาติ เนื่องจากผู้ปกครองหรือญาติของเด็กและเยาวชนที่ได้ รับการคุ้มครองจากกรมพินิจฯ ส่วนใหญ่จะมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดไม่สะดวกในการเข้ามาเยี่ยม ก็สามารถใช้ระบบนี้ติดต่อถึงกันแบบ Real Time โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ตัดปัญหา เรื่องการจัดการที่ต้องรัดกุม ในระบบเยี่ยมลงไปได้อย่างมาก การใช้ระบบ VDO Conference ของ EGA จะเริ่มกลายเป็นมาตรฐานที่หน่วยงาน ในกระทรวงยุติธรรมจะเข้ามาใช้ มากขึ้น และจะนำไปใช้กับกระบวนการยุติธรรมในด้านต่างๆ เพื่อบริการประชาชนให้มีความสะดวกต่อไป

ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า การสนับสนุนเครือข่าย GIN ของ EGA ให้กับกระทรวงยุติธรรมในครั้งนี้ ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เป็นการ ลงนามบันทึกข้อตกลงที่จะใช้โครงข่ายนี้จากทั้งกระทรวง ถือเป็นกระทรวงที่สองหลังจากที่ EGA ได้ทำกับกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปีที่ผ่านมา รายละเอียดเบื้องต้นนั้นทางกระทรวงยุติธรรมได้ขอใช้เครือข่ายขนาด 50 Mbps มาซึ่งทาง EGA ได้จัดการให้ทันที และถ้ามีการใช้งานที่มากกว่านี้จากแต่ละกรม กอง หรือสำนักงานก็สามารถเพิ่มขนาดได้อย่างทันที ทั้งนี้เครือข่าย GIN จะเป็นการให้บริการหน่วยงานรัฐโดยไม่คิดมูลค่า

ส่วนในเงื่อนไขระยะเวลาของการใช้นั้น ทางกระทรวงยุติธรรมสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะทำให้ระบบกรมกอง และสำนักงานของกระทรวงยุติธรรมทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อภายใต้ระบบเครือข่ายเดียวกัน และสามารถสร้างระบบปิดของหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะ ทำให้การบริหารงานต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ นอกกระทรวงยุติธรรมได้ ทำให้จะเกิดการบูรณาการข้อมูลกันต่อไปในอนาคต

นอกจากนั้นในบันทึกข้อตกลงยังรวมถึงการใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นระบบ Software as a Service ซึ่งเป็นการทำให้ระบบสารบรรณของกระทรวงยุตธรรมเข้าสู่มาตรฐานเดียว กันทั้งหมด สามารถส่งเอกสารรับเรื่องเกษียณเอกสารต่างๆ ด้วยความรวดเร็วในแบบออนไลน์ที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งหลังจากที่มีการลงนามในครั้งนี้ ทาง EGA กับบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์จะเข้ามาอบรมการใช้งาน และบันทึกผู้ใช้จริงเพื่อนับเป็นค่าใช้จ่าย เพราะระบบนี้จะเป็นระบบ pay per use หรือใช้จ่ายตามจริง ใช้น้อยเสียน้อยใช้มากเสียมาก โดยในสองปีแรกทาง EGA จะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้นในงบประมาณปีต่อไปจะมี การหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมยังใช้บริการอื่นๆ ทางด้าน Software as a Service อยู่แล้ว เช่น ระบบประชุมทางไกล หรือ VDO Conference และคาดว่าจะมีการขอเข้าใช้ ระบบต่างๆ ของ EGA เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่ระบบออนไลน์ของกระทรวงยุติธรรมต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้นทางกระทรวงยุติธรรมเองก็มีแผนการที่จะใช้ระบบไอทีเพื่อช่วยให้ประชาชนที่มาติดต่อ เกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในอนาคต มีการพัฒนาแอพพลิเคชันใหม่ๆ มารองรับ ทาง EGA จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และมีระบบ Government Application Center หรือ GAC รองรับ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานแอพพลิเคชันของกระทรวงยุติธรรมได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ EGA ได้ศึกษาจากตัวอย่างของหลายประเทศพบว่า การรวมศูนย์ข้อมูลจะมากขึ้น เกิดเป็น Big Data ซึ่งจะเป็นระบบการจัดการซึ่งมีความทันสมัยมากกว่านี้ แต่ขณะเดียวกันการคาดหวังว่าจะให้ข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ในจุดเดียวกันเพื่อง่ายต่อการดูแล และนำไปใช้ประโยชน์นั้น จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป เนื่องจากประชาชนทั่วโลกไม่นิยมให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการควบคุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมจะให้ข้อมูลหรือใช้ข้อมูลของตนเองเป็นเรื่องๆ เช่น เรื่องความเป็นอยู่ในบ้าน ภาษี และระบบยุติธรรม

แม้โครงสร้างพื่นฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากภาครัฐจะเป็นโครงสร้างเดียวกัน แต่ในอนาคตการแยกย่อยออกเป็นหัวเรื่องตามความต้องการของประชาชนจะเกิดขึ้น นั่นคือ เราอาจจะเห็นการเกิด Cloud Computing ของภาคงานยุติธรรม เราจะเป็นแอพพลิเคชันเซ็นเตอร์เฉพาะงาน ภาคยุติธรรม เป็นต้น

ดังนั้นการออกแบบพื้นฐานตั้งแต่แรกเพื่อการรองรับพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภค หรือคือทั้งภาคข้าราชการ และภาคประชาชน แม้จะต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องมีการวางแผนและมองถึงการใช้งานในอนาคต เพื่อให้การลงทุนครั้งนี้เกิดความคุ้มค่าและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ต่อไป

แนวโน้มในอนาคตอันใกล้สำหรับงานยุติธรรมไทยนั้น หลังจากที่ EGA ได้ทำการสำรวจกับหน่วย งานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า มีแอพพลิเคชันที่มีความพร้อมในการให้บริการออนไลน์กับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จากประสบการณ์ของ EGA นั้น อาจจะต้องทำการทดลองให้บริการผ่านระบบ Web Base จนเป็นทีแน่ใจก่อนว่า จะได้รับการตอบรับจากประชาชนและมีความจำเป็นจริงๆ ก่อนที่จะออก แบบบริการเหล่านั้นผ่านระบบโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ