รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน จ.สงขลา ซึ่งเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ว่า ขณะนี้สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบสำหรับดำเนินการก่อสร้างแล้ว จำนวน 80 ล้านบาท ไม่รวมค่าคุมงานอีกกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณผูกพัน โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2557 เพื่อเป็นของขวัญให้กับชาวสงขลาและประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2558 นอกจากนั้น ยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น สำหรับให้บริการทางวิชาการ ซึ่งหอดูดาวภูมิภาคฯ แห่งนี้ จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านดาราศาสตร์ ในเรื่องเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมภาคใต้ นอกจากนั้น จะมีการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านอาเซียนกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และการศึกษาด้านดาราศาสตร์อิสลาม โดยจะใช้ในการดูดวงจันทร์ และอาจพัฒนาเป็นหอสังเกตดวงจันทร์ เพื่อประโยชน์ในทางศาสนกิจของศาสนาอิสลาม และเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับปฏิทิน ภูมิปัญญา ซึ่งน่าจะมีอยู่มากในพื้นที่
รศ.บุญรักษา กล่าวว่า ความโดดเด่นของหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน จ.สงขลา คือในขณะที่ในภูมิภาคไม่สามารถดูดาวได้ แต่ที่ จ.สงขลา สามารถดูได้ แม้จะมีข้อจำกัดด้านสภาพอากาศ เช่น เข้าสู่หน้าฝน แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกับหอดาราศาสตร์แห่งชาติที่กรุงเทพฯ โดยหอดูดาวแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางทางดาราศาสตร์ เป็นแหล่งให้ความรู้และปัญญากับประชาชนที่จะก่อให้เกิดความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นโอกาสอันดีของ จ.สงขลา ที่จะได้มีหอดูดาวไว้สำหรับจัดอบรม และสนับสนุนการจัดการศึกษาในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตลอดไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น
ด้าน นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง อาจารย์โปรแกรมวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้ประสานงานโครงการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน จ.สงขลา กล่าวว่า เมื่อ ปี พ.ศ.2550 มรภ.สงขลา ได้รับเกียรติจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เลือกให้เข้าร่วมโครงการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน โครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระราชทานนาม หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลาเป็น 1 ใน 5 ของเครือข่ายหอดูดาวภูมิภาค ทั่วประเทศ เป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลกล้องดูดาว 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ (เป็นกล้องดูดาวที่ใหญ่ที่สุด ทันสมัยที่สุด และอยู่ในระดับความสูงที่สุด ในภูมิภาคอาเซียน) และเชื่อมโยงกับกล้องดูดาว PROMPT 8 ของ สดร. ณ Cerro Tololo ประเทศชิลี ตลอดจนกระจายโอกาสการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ให้ทั่วถึงในทุกภูมิภาคของประเทศไทย สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์และอวกาศสำหรับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจ เพื่อเป็นศูนย์กลางทำวิจัยด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการด้านดาราศาสตร์และอวกาศ รองรับประชาคมอาเซียน