นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในฐานะผู้ประสานเครือข่าย 8 สมาคม (ที่เกี่ยวข้องกับการจับปลาและการผลิตอาหารสัตว์) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการผลิตปลาป่นประมาณ 500,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้ประกอบด้วยวัตถุดิบจากเศษเนื้อหลังผลิตอาหารมนุษย์ประมาณ 50% ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนที่เหลือได้มาจากผลพลอยได้จากการทำประมง ซึ่งเป็นปลาหลากหลายประเภทและไม่นิยมนำมาบริโภค
เครือข่าย 8 สมาคม ร่วมกับกรมประมงและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF), International Fishmeal and Fish Oil Organization (IFFO), ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) และ Sustainable Fisheries Partnership (SFP) ได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานการประมงที่ยั่งยืน แต่เนื่องจากธรรมชาติของวัตถุดิบในการผลิตปลาป่นประกอบด้วยสัตว์ทะเลหลายพันธุ์ (multi-species) ซึ่งแตกต่างจากประเทศที่ผลิตปลาป่นอื่นๆ เช่น เปรู ที่มีการใช้ปลาเพียงชนิดเดียว (single-species) ในการผลิตปลาป่น ดังนั้นการดำเนินการของประเทศไทยจำเป็นต้องใช้เวลาและเทคนิคในการกำหนดมาตรฐาน
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน จึงได้เสนอให้สิ่งจูงใจให้ชาวประมงจับปลาอย่างยั่งยืนด้วยการให้ค่าตอบแทนพิเศษปลาป่น (premium) เพิ่มขึ้น 3 บาทต่อกิโลกรัมจากราคามาตรฐาน ให้กับผู้ผลิตปลาป่นที่มีการซื้อวัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายมีการเอกสารรับรองและผ่านการตรวจสอบจากกรมประมง ซึ่งสัมฤทธิ์ผลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้พิจารณาเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าปัญหาจะลดลงไปมากระดับหนึ่งเมื่อทุกบริษัทสมาชิกเข้าร่วมโครงการ
“เครือข่ายฯ มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยยังไม่พิจารณาที่จะหยุดซื้อปลาป่นที่ไม่ยั่งยืนเพราะจะเป็นการทำลายอาชีพคนไทยที่เป็นทั้งผู้ผลิตปลาป่นและชาวประมงโดยทันทีซึ่งจะมีผลกระทบที่รุนแรงอย่างยิ่งเป็นผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ การหยุดซื้อไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเกิดผลให้การประมงจะยั่งยืนได้เพราะวัตถุดิบนั้นมีส่วนที่ถูกใช้เป็นอาหารคนด้วย” นายพรศิลป์ ย้ำ
นายพรศิลป์ เน้นย้ำว่าการแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จอย่างแท้จริงนั้นจะต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายและต้องดำเนินการพร้อมๆ กันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษทใหญ่ตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของการประมงที่ไม่ยั่งยืนต่อไป
เครือข่ายฯมีความเห็นตรงกันว่ากรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และที่ผ่านมาหน่วยงานดังกล่าวได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ได้ในระยะเวลาอันใกล้
สำหรับเครือข่าย 8 สมาคมประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นน้ำถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย, สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์, สมาคมกุ้งไทย, สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมทูน่าไทย, และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างแผนพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนนี้ จะเป็นทางหนึ่งที่จะสร้างจุดแข็งให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญและตระหนักถึงความยั่งยืนของการได้มาของวัตถุดิบอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง โดยมีการปฏิบัติตามระบบมาตรฐานสากลทุกห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้ากุ้งในกลุ่มผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้า
นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย กล่าวว่าโรงงานปลาป่นจัดอยู่ในอุตสาหกรรมขั้นกลางระหว่างวัตถุดิบ(ปลาเป็ด) ของชาวประมง กับการอบแห้งแปรรูปเป็นปลาป่น แล้วส่งต่อให้กับโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นกลจักรหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตอาหารสัตว์ที่สำคัญ โดยสมาคมฯและสมาชิกมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่การผลิตอาหารสัตว์ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและความถูกต้องตามกฎหมาย โดยการดำเนินการตามระบบ สิ่งที่ สำคัญคือ ทุกภาคส่วนต้องก้าวไปพร้อมกัน