โรงงานยาสูบเปิดแผนเตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก พัฒนาคุณภาพคน-สินค้า ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

จันทร์ ๒๑ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๗:๔๗
ผู้อำนวยการยาสูบเปิดแผนพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อนำโรงงานยาสูบเติบโตอย่างยั่งยืน แข่งขันได้ในเวทีโลก เผยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เตรียมย้ายโรงงานยาสูบทั้งหมดไปอยู่อยุธยา วางระบบอนุรักษ์พลังงาน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์

นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการยาสูบ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ในงานครบรอบ 75 ปี วันสถาปนาโรงงานยาสูบว่า การดำเนินงานของโรงงานยาสูบในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา ได้ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาแล้วกว่า 3 ยุค ได้แก่ ยุครวบรวมก่อตั้งสร้างความเป็นปึกแผ่น ยุคสร้างความรุ่งเรืองพัฒนาเคียงคู่ไทย และยุคเปลี่ยนแปลงแข่งขันทางธุรกิจ ปัจจุบันโรงงานยาสูบเป็นองค์กรที่มีความมั่นคง สามารถนำรายได้ส่งรัฐเป็นจำนวนกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี และในปี 2559 โรงงานยาสูบจะย้ายไปยังฐานการผลิตแห่งใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด และมุ่งสู่การแข่งขันในเวทีโลกต่อไป

“นับจากนี้ โรงงานยาสูบกำลังก้าวสู่ยุคที่ 4 คือ ยุคก้าวสู่การพัฒนาสู่ความยั่งยืน เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งกระบวนการเพื่อวางรากฐานสร้างความแข็งแกร่ง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ" นายต่อศักดิ์กล่าว

ผู้อำนวยการยาสูบขยายความว่า ต้นน้ำของยาสูบก็คือ ใบยาสูบ ซึ่งได้มีกระบวนการพัฒนาเพื่อให้ได้ใบยาคุณภาพดี โดยมีแผนงานใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เช่น ร่วมกับ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) นำเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านระบบดาวเทียมมาใช้ดูว่าพื้นที่ใดเหมาะสมที่จะเพาะปลูกพืชพันธุ์ชนิดใด และยังช่วยดูไปถึงระบบบริหารจัดการน้ำ จะมีการขุดบ่อน้ำ กักเก็บน้ำ เพื่อให้ชาวไร่ มีน้ำใช้ตลอดปี นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้มีการคิดค้นและพัฒนาการปลูกใบยาสูบที่มีคุณภาพ ปลอดภัยไร้สารตกค้าง รักษาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบ GAP (Good Agriculture Practices) ซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ให้เกษตรกรได้มีแนวทางการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐาน ที่สำคัญยังมีการประกันราคายาสูบให้กับชาวไร่ยาสูบ โดยมีทีมประเมินและวิเคราะห์ความต้องการของตลาดยาสูบใน 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ชาวไร่ ปลูกยาสูบตามความต้องการของตลาด สามารถสร้างความมั่นใจ และความมั่นคงให้กับชาวไร่ยาสูบ รวมไปถึงการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางปฎิบัติ ด้วยโครงการ 1 ไร่ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นโครงการเกษตรผสมผสานด้วยระบบอินทรีย์การเกษตร โดยโครงการนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร นอกเหนือจากช่วงที่ว่างจากการปลูกไร่ยาสูบ จะได้มีอาชีพและมีช่องทางทำมาหากินตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของโรงงานยาสูบในการบูรณาการเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน

“ที่สำคัญคือ สังคมที่อยู่ร่วมกับชาวไร่ยาสูบต้องเป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” ผู้อำนวยการยาสูบกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมกลางน้ำของยาสูบก็คือ โรงงานผลิตยาสูบ ปัจจุบันเรามีโรงงานผลิตยาสูบทั้งหมด 3 โรงงาน และโรงอบใบยา 1 โรงงาน สถานีทดลองยาสูบ 1 แห่ง และสำนักงานยาสูบในส่วนภูมิภาคอีก 8 แห่ง สำหรับโรงอบใบยาของโรงงานยาสูบ ตั้งอยู่ที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นโรงอบใบยาขนาดใหญ่และมีเครื่องจักรจากประเทศอิตาลี ซึ่งทันสมัยที่สุดในอาเซียน สามารถอบใบยาได้ถึง 28 ล้านกิโลกรัมต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละกว่า 500 ล้านบาท ภายในปี 2560 ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะย้ายโรงงานผลิตยาสูบจากคลองเตยทั้งหมดไปที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีแนวคิดของโรงงานอนุรักษ์พลังงานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมด้วย เนื่องจากเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน เราก็สรรหาเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสามารถบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย

นายต่อศักดิ์ กล่าวถึงการพัฒนากระบวนการปลายน้ำ คือ งานด้านการตลาดว่า โรงงานยาสูบดูแล ร้านค้าส่ง ร้านค้าส่งช่วง และร้านค้าปลีก กว่า 5 แสนครอบครัว โดยมีหลักคิดคือทำอย่างไรให้ครอบครัวเหล่านี้มีความสุข เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำระบบ CRM (Customer Relationship Management) เพื่อให้คู่ค้าได้รับการบริการที่ดี ทั้งก่อนและหลังการขาย นอกจากนี้ยังมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งสามารถนำบุหรี่ไทยไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ด้วย และอีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญ คือส่วนสนับสนุน ได้แก่ โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ และฝ่ายงานบริหาร อาทิ งานด้านบัญชี ด้านบุคคล ซึ่งเราได้วางแนวทาง หรือ Road Map ให้สอดคล้องกับการประเมินขององค์กรภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่งเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่เวทีโลก

“การพัฒนาในยุคต่อไปนี้ เรายึดหลักการพัฒนาองค์กรที่มุ่งสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development) เราจึงมั่นใจว่าอนาคตของโรงงานยาสูบจะสดใส มีความมั่นคง สร้างประโยชน์ให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสร้างรายได้ให้กับรัฐ สามารถนำมาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทยต่อไป” ผู้อำนวยการยาสูบกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ