แม้ว่าในที่ประชุมคณะกรรมการจะเน้นย้ำว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้มีผลกระทบในเรื่องกรอบเวลาของการแจกจ่ายซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มมีความวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่อาจต้องมีการเลื่อนกำหนดการแจกจ่ายคูปองออกไป
นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมไอซีทีอาวุโส บริษัทฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลกได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “หากต้องมีการเลื่อนกำหนดการแจกคูปองซื้อกล่องรับสัญญาณหรือ Set top box ออกไป จะส่งผลกระทบในวงกว้างไปยังผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ผลิตรายการเจ้าของช่องจะเป็นผู้ได้รับผลมากที่สุด เพราะการแจกคูปองสนับสนุนประชาชนทั่วประเทศเป็นการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตื่นตัวและเพิ่มจำนวนการเข้ารับชมได้ดีที่สุด การเลื่อนกำหนดการออกไปจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ในส่วนของผู้บริโภค การเลื่อนแจกคูปองมีผลต่อความเชื่อมั่นในระบบดิจิตอลทีวีและชะลอการตัดสินใจในการเลือกรับชมเนื่องจากในช่วงนี้ยังสามารถรับชมช่องรายการเดิมในระบบอนาล็อกได้อยู่ เมื่อเรานำเรื่องของทฤษฏีการแพร่กระจายนวัตกรรมเข้ามาพิจารณาแล้วจะเห็นว่าในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็น early adopters หรือกลุ่มผู้นำทางด้านการตอบรับเทคโนโลยีใหม่จะทำการตอบสนองทันทีโดยอาจไม่รอคูปองจาก กสทช. แต่ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่อีกมากกว่า 60% ซึ่งจะพิจารณาเลือกเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลทีวีอย่างรอบคอบปลอดภัย จะชะลอการตัดสินใจเปลี่ยนระบบการรับชมออกไปอีก
ในส่วนของผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์รับชม หากการเลื่อนแจกคูปองเพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกินไตรมาสที่ 2 นั้นไม่น่าจะส่งผลกระทบมาก แต่จะเป็นโอกาสในการยืดระยะเวลาประชาสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความไม่ลงตัวในประเด็นอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นมูลค่าของคูปอง คุณลักษณะทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณ และข้อจำกัดในการนำไปใช้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เลื่อนการแจกคูปองออกไปแล้วยังอาจส่งผลให้การเตรียมความพร้อมในด้านการผลิตและการทำการตลาดเป็นไปด้วยความยากลำบาก” นายธีระ ให้ความเห็น
โดยล่าสุดที่ประชุม กสทช. ได้กำหนดวันที่ 21 เมษายนนี้เป็นวันแถลงการณ์ถึงรายละเอียดและข้อสรุปทุกประเด็นเกี่ยวกับนโยบายด้านการบริหารจัดการคูปอง ซึ่งนอกจากประเด็นของความเป็นไปได้ในการเลื่อนแจกคูปองแล้ว การเพิ่มมูลค่าของคูปอง และแนวทางการแจกจ่ายก็ยังเป็นอีกประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงกระบวนการที่อาจเป็นช่องทางเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผู้จำหน่ายกล่องทีวีดาวเทียมแทน
“ในการพิจารณารายละเอียดของคูปอง รวมถึงกระบวนการแจกจ่ายและนโยบายการนำไปแลกซื้อนั้น ทางคณะกรรมการควรพิจารณาถึงเป้าหมายหลัก 4 ข้อ คือ (1) ต้องการการแจกครอบคลุมให้ถึงที่สุดทั้ง 22 ล้านครัวเรือนหรือมากกว่า (2) สนับสนุนผู้ถือใบอนุญาตผลิตรายการให้สามารถดำรงอยู่ได้ (3) ให้ความยุติธรรมกับผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์รับชม (4) สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานที่ต้องใช้บริหารจัดการโครงข่ายและอื่นๆต่อไปอีก 15 ปี”
“สำหรับข้อสรุปในประเด็นรายละเอียดของคูปองนั้น สามารถศึกษาได้จากการเปลี่ยนผ่านในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการระบุคุณสมบัติพื้นฐานรวมทั้งคุณสมบัติต้องห้ามของกล่องรับสัญญาณที่ไม่สามารถแลกซื้อด้วยคูปองได้อย่างชัดเจน เช่นกล่องรับสัญญาณที่สามารถแลกซื้อด้วยคูปองได้จะต้องไม่มีระบบการบันทึกเทปและไม่มีคุณสมบัติการรับชมภาพจากระบบดาวเทียม เป็นต้น” นายธีระกล่าวทิ้งท้าย