จังหวัดน่านเป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสค. ให้เป็นจังหวัดนำร่องและพื้นที่ต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา ที่เป็นการต่อยอดการดำเนินงานจาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” โดย คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน ได้จับมือกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 6 แห่ง ร่วมสร้างพื้นที่ต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้ พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันของจังหวัดภายใต้แนวคิด “เด็กน่านรักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล” โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นและการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน
ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่มีแนวทางในการปฏิรูปการเรียนรู้ของตำบล ด้วยการนำเอาความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นฐานในการทำงาน และขับเคลื่อนผ่าน 3 โครงการคือ โครงการเด็กและเยาวชนตำบลงอบรักษ์ถิ่นเกิด, โครงการเด็กและเยาวชนตำบลงอบพร้อมใจสู่ประชาคมอาเซียน และ โครงการยกระดับการเรียนรู้สู่สังคมที่เป็นสุข เพื่อสร้างความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง และเตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ด้านทักษะภาษาเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมสร้างทักษะอาชีพ “กาแฟมณีพฤกษ์” ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การปลูก ผลิต จำหน่าย และแปรรูป และปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพย์ยากรธรรมชาติ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในการผลิต เพื่อให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
นายเสกสรรค์ ใจประสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมณีพฤกษ์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลงอบเปิดเผยว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ในพื้นที่ของดอยมณีพฤกษ์ จะมุ่งเน้นไปที่การนำพื้นฐานอาชีพด้านการเกษตรในชุมชนมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกับการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์และหวงแหนถิ่นเกิด และการเตรียมความพร้อมในด้านภาษาเพื่อต้อนรับการเข้ามาของประชาคมอาเซียน
“โครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานในโรงเรียน จะทำให้เด็กๆ ได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยได้นำ กาแฟมณีพฤกษ์ซึ่งเป็นจุดเด่นของพื้นที่ มาเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในส่วนของกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การปลูก ผลิต และจำหน่าย รวมไปถึงการเรียนรู้ในด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่นี้มีความโดดเด่นในเรื่องของวิถีชนเผ่าม้งและลัวะ ทางโรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสูตรที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เพื่อให้เขามีความภูมิใจ มีจิตสำนึกในการที่จะเรียนรู้และอนุรักษ์ธรรมชาติ หวงแหนวัฒนธรรมของตนเอง และที่สำคัญการเรียนรู้ตนเองก่อนที่จะไปรู้จักกับผู้อื่นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้พวกเขามีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015” ผอ.เสกสรรค์กล่าว
นายวิจิตร โซ้งตระกูลวัฒนา ประธานวิสาหกิจชุมชนมณีพฤกษ์ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการผลิต “กาแฟมณีพฤกษ์” เล่าถึงการเข้ามาสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ว่า
ได้พยายามเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องการผลิตอย่างครบวงจร โดยเน้นในเรื่องของคุณภาพ ด้วยการให้ความรู้กับเด็กๆ ว่าจุดเริ่มต้นกาแฟที่แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วจะทำให้มีคุณภาพดีที่สุดได้อย่างไร
“ตอนนี้เด็กๆ ก็สนใจมากขึ้น แล้วก็คิดว่าถ้าเขามีความสามารถพอก็น่าที่จะทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการศึกษาได้ และในอนาคตการปลูกกาแฟทดแทนพื้นที่ปลูกพืชอื่นๆ เช่น กะหล่ำปลี ก็น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนในอนาคตแทนพ่อและแม่ เพราะกาแฟเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ป่าอยู่ร่วมกับคนได้ และเป็นอาชีพเสริมที่อาจจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนของเขา แล้วก็ยังเป็นอาชีพที่ยั่งยืนของชุมชนได้ในอนาคต” นายวิจิตรระบุ
ด.ญ.กฤติยา อนุวงศ์ประพันธ์ หรือ “น้องจอย” , ด.ญ.วิลัยลักษณ์ กานนท์ธนกุล หรือ “น้องมายด์” และ ด.ญ.ฤดีมาศ แช่ท้าว หรือ “น้องเดือน” นักเรียนชั้น ป.6 ที่ทำหน้าที่เป็น “บาริสต้า” รุ่นจิ๋วช่วยกันเล่าให้ฟังขณะชงกาแฟให้กับนักท่องเที่ยวไปด้วยว่า การปลูกกาแฟจะขายเมล็ดกาแฟได้ราคาดีกว่าปลูกกะหล่ำปลี เพราะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120 บาท แต่กะหล่ำปลีนั้นมีราคาไม่แน่นอน ตั้งแต่ 3-10 บาท ทำให้ทุกวันนี้ครอบครัวของตนเองก็หันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น
“การขายกาแฟเป็นอาชีพอิสระ รายได้ก็ดี ทุกวันนี้คนก็ชอบกินกาแฟกันมากขึ้น ในอนาคตก็อาจจะทำเป็นอาชีพเสริมได้เพราะเรามีทั้งวัตถุดิบและมีความรู้ในการชงกาแฟ” น้องจอยกล่าว
“จุดเด่นของกาแฟมณีพฤกษ์ของเราก็คือ มีรสชาติที่เข้มข้น และมีกลิ่นหอม เพราะสภาพพื้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟ เพราะเป็นพื้นที่สูง และยังเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ ที่เคยปลูกกัน” น้องมายด์และน้องเดือนช่วยกันยืนยัน
น.พ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่ารากเหง้าของคนแต่ละคนเป็นสิ่งที่เราควรจะภาคภูมิใจ หากเราไม่มีความภาคภูมิใจแล้วก็คงเหมือนกับต้นไม้ที่รากลอยซึ่งถูกน้ำ ลม และสิ่งต่างๆ พัดพาไปได้โดยง่าย ซึ่งจังหวัดน่านประกอบด้วยชนเผ่าหลากหลาย ดังนั้นเด็กน่านจึงมีควรความภาคภูมิใจในความเป็นมาในรากเหง้า และในความเป็นชนเผ่าตนเอง
“ถ้าเราไม่มีรากเหง้า แล้วเมื่อมีคนภายนอกเข้ามาที่น่าน เขาก็จะเข้ามาตักตวงทรัพยากรต่างๆ ออกไป แต่ถ้าเราอนุรักษ์ความเป็นน่านเอาไว้ เมื่อได้เปิดจังหวัดออกไปและคนภายนอกก็จะเข้ามา เขาก็จะเข้ามาดูการอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติ สังคม เชื้อชาติ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม แต่ไม่สามารถเข้ามาตักตวง หรือเข้ามาเอาเปรียบได้ เพราะหากจะไปแข่งขันในด้านสร้างวัตถุกับจังหวัดอื่นๆ น่านคงทำไม่ได้ แต่ถ้าน่านยืนหยัดอยู่ด้วยสิ่งที่น่านมีอยู่แล้ว และรักษาของดีให้คงความดีต่อไป ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปีจังหวัดน่านก็จะมีความเจริญขึ้นโดยไม่ถูกทุนจากภายนอกเข้ามาทำลาย” นพ.สุภกร กล่าวสรุป