จังหวัดน่านเป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสค. ให้เป็นจังหวัดนำร่องและพื้นที่ต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา ที่ต่อยอดการดำเนินงานจาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนของจังหวัด ภายในกรอบแนวทางการทำงานเดียวกันคือ “เด็กน่านรักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล”
โดยการจัด “เวทีสืบสานการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเด็กน่าน” เป็นการนำเสนอผลงานและความสำเร็จของ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ ตำบลปอน, ตำบลงอบ จากอำเภอทุ่งช้าง ตำบลศิลาเพชร, ตำบลไชยวัฒนา จากอำเภอปัว และตำบลสะเนียน, ตำบลกองควาย จากอำเภอเมือง ในการนำยุทธศาสตร์ของจังหวัดไปต่อยอดสร้างพื้นที่ต้นแบบแก้ปัญหาด้านการศึกษา และปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ตามบริบทของชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนของ “ศูนย์ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับตำบล”
พร้อมกันนี้ยังเปิด “เวทีเสวนายกระดับการเรียนรู้ การปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน” บริเวณลานโพธิ์หน้าวัดพระธาตุแช่แห้ง ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นในการดำเนินงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อต่อยอดขยายผลความสำเร็จของพื้นที่ต้นแบบ กระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดอย่างยั่งยืน
นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายก อบจ.น่าน กล่าวว่า ทุกวันนี้เราทราบกันดีว่าการเรียนรู้ที่สำคัญโดยส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน ส่วนในห้องเรียนนั้นเป็นการเรียนเฉพาะความเชี่ยวชาญสาขาเท่านั้น ซึ่งจังหวัดน่านเองมีความหลากหลายมากโดยเฉพาะในเรื่องของชาติพันธุ์ และหนึ่งวันของสัปดาห์ทุกโรงเรียนในพื้นที่จะมีการแต่งกายแบบพื้นเมืองแบบชาติพันธุ์ของตนเอง
“สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าแม้เราจะก้าวไปตามโลกสมัยใหม่ แต่เราก็จะภูมิใจในสิ่งที่เรามี ผ่านการแสดงออกทั้งด้านการแต่งกาย ภาษา ศิลปวัฒนธรรม และที่สำคัญเครือข่ายต่างๆ ที่ได้เชื่อมร้อยการทำงานผ่านคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับจังหวัดและระดับตำบล ได้แสดงให้เห็นว่าในวันนี้ทั้งคณะผู้บริหารของเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แม้แต่ครูในพื้นที่ต่างๆ มีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของท้องถิ่น” นายนรินทร์ระบุ
ว่าที่ร้อยตรีสมเดช อภิชยกถุล ประธานศูนย์ปฏิรูปการเรียนรู้ จ.น่าน บอกเล่าถึงความสำเร็จของการดำเนินงานว่า เกิดจากที่ทุกภาคส่วนที่เข้ามาทำงานด้วย “จิตอาสา” โดยต่างก็คิดถึงเด็กๆ หรือลูกหลานของเรามาเป็นลำดับแรก มีความจริงใจให้กัน และใช้งบประมาณอย่างเปิดเผย
“ถ้าไม่มีจิตอาสา ไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน งานทุกอย่างก็คงไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตอนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายๆ แห่งในจังหวัด ได้มีการกำหนดเรื่องของการศึกษาไว้ในข้อบัญญัติของเทศบาล หรือ อบต. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เกิดจากการเห็นตัวอย่างดีๆ ของพื้นที่ต้นแบบ และหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานด้านการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น” ว่าที่ ร.ต.สมเดชกล่าว
นายชูเกียรติ ด่านธนะทรัพย์ ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 กล่าวว่าความสำเร็จของโครงการนี้ เป็นความสำเร็จของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะทุกวันนี้เรามักจะพึ่งพาราชการมากเกินไป หวังว่าจะมีงบประมาณ หวังว่าจะมีบุคลากร การเรียนการสอนก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครู และผู้บริหารโรงเรียนดำเนินการไป
“เรื่องของการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเราในขณะนี้ คงจะปล่อยให้ราชการรับผิดชอบอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะนอกจากเรื่องของคุณภาพการศึกษาแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่พบในพื้นที่ยังมีเรื่องของการทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิม การรับวัฒนธรรมใหม่ๆ รวมไปถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความขาดแคลนที่ในจังหวัดน่านมีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนจะเข้ามาช่วยกันในการแก้ปัญหาและการยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัด” ผอ.ชูเกียรติ ระบุ
นายสมเพ็ชร สิทธิชัย เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ จ.น่าน เล่าถึงแนวทางในการทำงานของจังหวัดน่านว่า ไม่ได้มองเรื่องของงานวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่น่านตีโจทย์เรื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นเรื่องของการเรียนรู้เพื่อดำรงชีวิต ซึ่งเป็นโจทย์หลักและโจทย์ใหญ่ที่ต้องดำเนินงาน
“คณะกรรมการฯ ทำงานบนหลักคิด 3 เรื่องคือ หนึ่งการเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอน สองเรื่องของภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของเด็กตัวจริง จะต้องเป็นเครือข่ายหลักที่ในการสนับสนุนการทำงานด้านการศึกษา และสามคือการใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา โดยไม่ได้บอกว่าจะให้ท้องถิ่นไปพัฒนาเรื่องอะไร แต่จะให้กระบวนการไป ส่วนจะพัฒนาเรื่องอะไร ก็เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ โครงการจึงจะเกิดความยั่งยืน” นายสมเพ็ชร ระบุ
น.พ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวหลังจากจบการเสวนาว่า การทำงานของ สสค. ร่วมกับทั้ง 10 จังหวัดดีเด่นตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า แต่ละจังหวัดสามารถที่จะลุกขึ้นมาจัดการตัวเองในด้านการศึกษาได้โดยไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงและผสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่โดยไม่จำกัดสังกัดรวมไปถึงภาคเอกชน
“รูปแบบและแนวทางการทำงานของจังหวัดน่าน เป็นการนำร่องเพื่อเริ่มการพัฒนาการศึกษาในระยะยาว โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา ที่ช่วยย้ำให้เห็นว่าการทำงานในด้านนี้ ไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของหน่วยงานด้านการศึกษาเท่านั้น เพราะในประเทศเจริญแล้วการศึกษาเป็นบทบาทและภารกิจของท้องถิ่นทั้งสิ้น และโจทย์ของน่านไม่เพียงแค่จัดการในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังทำให้การศึกษาสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด นั่นก็คือทำอย่างไรที่จะทำให้น่านยังคงมีความเป็นน่าน ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทางด้านวัฒนธรรม ทางด้านวิถีชีวิต ซึ่ง สสค. หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเปิดโอกาสให้กับท้องถิ่น เปิดโอกาสให้กับจังหวัด ได้เริ่มทำงานด้านการศึกษาแล้วเขาสามารถทำได้จริง อย่างน้อยก็เห็นรูปธรรมจากผลการดำเนินงานของทั้ง 10 จังหวัด” ผจก.สสค.กล่าวสรุป.