นายสุปรี บอกอีกว่า ด้วยแนวคิดการพัฒนาโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ให้เป็นมากกว่าแหล่งผลิตไข่ไก่ที่เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพดีจากฝีมือของเด็กๆ เพื่อช่วยลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กไทย หากแต่จะต้องต่อยอดความสำเร็จของโครงการสู่การเป็นแหล่งสวัสดิการชุมชนได้ด้วย โดยสร้างโรงเรียนให้เป็นผู้ดูแลชุมชนของตนเอง ในลักษณะการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise กล่าวคือ โรงเรียนสามารถดำเนินกิจการของตนเองได้อย่างมั่นคงยั่งยืน และเผื่อแผ่ความสำเร็จสู่ชุมชน
“ตัวอย่างเช่นที่โรงเรียนบ้านดงมะดะ จังหวัดเชียงราย ที่มีผลผลิตไข่ไก่เพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน จากนั้นเขาก็หันมาช่วยเหลือชุมชน ด้วยการนำไข่ไก่ไปเลี้ยงน้องๆที่เป็นเด็กไร้ที่พึ่งอีก 100 กว่าคน รวมทั้งอีกหลายโรงเรียนที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆที่มีความแข็งแรงเช่นเดียวกัน” นายสุปรี กล่าว
ทั้งนี้ โรงเรียนที่จะได้รับการยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ จะต้องเป็นโรงเรียนที่เลี้ยงไก่ไข่มาแล้วไม่น้อยกว่า 9 รุ่น มีเงินกองทุนจากการดำเนินโครงการมากกว่า 1 แสนบาท โดยเงินกองทุนสะสมเฉลี่ยต่อนักเรียน 1 คน ไม่ต่ำกว่า 500 บาท มีความร่วมมือกับชุมชนมากกว่าร้อยละ 90 มีการจัดทำรายงานผลการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง และเด็กนักเรียนได้บริโภคไข่ไก่ 3 ฟองต่อสัปดาห์ เป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลสถานศึกษาต้นแบบ และมีนวัตกรรม โดยซีพีเอฟจะเป็นผู้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้าไปให้คำปรึกษาในการดูแลการเลี้ยงไก่ให้ได้มาตรฐาน โครงการจึงมุ่งสร้างเครือข่ายให้เหมาะสม และสอดคล้องกับเขตการบริหารของซีพีเอฟ ที่กระจายอยู่ในทุกอำเภอ โดยจะแบ่งเป็น 16 เขต ใน 4 ภูมิภาค ดังนั้นโรงเรียนแม่ข่ายจึงกระจายอยู่ใน 16 เขตดังกล่าวด้วย
สำหรับการขยายโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เพื่อพัฒนาภาวะโภชนาการของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ยังคงตั้งเป้าหมายที่ 50 โรงเรียนต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถขยายครบ 500 แห่งภายในปี 2558 จากปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการ 436 แห่ง ใน 65 จังหวัด ช่วยลดภาวะทุพโภชนาการแก่นักเรียนกว่า 96,000 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมเรียนรู้ในโครงการกว่า 4,300 คน มีชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 800 หมู่บ้าน