นางสาวกุหลาบ กล่าวอีกว่า โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน มีกรอบการดำเนินงาน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2555 โดยเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) และปี 2556-2557 ดำเนินการในส่วนของระบบการกระจายสินค้าและขนส่งสีเขียว (Green Logistics) และกำลังก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตสีเขียว (Green Value Chain) ในปี 2557 นี้ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยบริษัททำการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สีเขียว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไก่สดและไก่ปรุงสุก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จนถึงโรงงานอาหารแปรรูป
จากนั้นจึงนำข้อมูล LCA ที่ได้มาประเมินประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-efficiency) ที่จะช่วยชี้วัดว่าธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคม จากการเปรียบเทียบข้อมูลการใช้วัตถุดิบและพลังงานของปี 2554 กับฐานข้อมูลปี 2551 พบว่าผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งด้านพลังงาน การปล่อยมลพิษ ศักยภาพในการก่อให้เกิดความเป็นพิษ อุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงาน ทรัพยากร และการใช้ที่ดิน กล่าวคือ ในการผลิตไก่สด 1 กิโลกรัม สามารถลดใช้พลังงานได้ถึง 11% ใช้เชื้อเพลิงลง 8% ช่วยลดการปล่อยน้ำทิ้ง มลพิษทางอากาศและของเสียได้ 8% ขณะที่การผลิตไก่ปรุงสุก สามารถลดใช้พลังงานได้ 11% ใช้เชื้อเพลิงลดลง 7% และลดการปล่อยน้ำทิ้ง มลพิษทางอากาศ และของเสียได้อีก 8% โดยผลการประเมินนี้ผ่านการรับรองในขั้น Critical Review จากหน่วยงานภายนอก คือ TUV Rheinland ประเทศเยอรมัน
นางสาวกุหลาบ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาการผลิตเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และให้ความสำคัญต่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนด้วยการนำมาตรฐานอื่นๆ มาใช้ เช่น IFS, BRC, Global G.A.P และฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint label) ซึ่งปัจจุบันสินค้าของบริษัทที่ขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้วจำนวน 144 ผลิตภัณฑ์ และได้ต่อยอดสู่การทำวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ (Water footprint) ใน 3 ผลิตภัณฑ์ คือ เกี๊ยวกุ้ง ไก่สด และไข่ไก่ เตรียมพร้อมรองรับการขาดแคลนน้ำในอนาคต