เตือนอันตราย !! ด้วงก้นกระดก – ด้วงน้ำมัน

จันทร์ ๒๘ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๕:๑๐
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ด้วงก้นกระดกหรือบางครั้งเรียกว่าแมลงเฟรชชี่ เนื่องจากพบมากเมื่อเริ่มเปิดเทอม เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ชนิดที่พบบ่อยในบ้านเราคือ Paederus fuscipes มีลำตัวสีส้มสลับดำ ปีกคู่แรกแข็งสั้นสีดำเป็นมัน ส่วนท้องยาวออกมานอกปีกสังเกตเห็นได้ง่าย ปลายท้องสีดำ อาศัยอยู่ตามกองมูลสัตว์ ดินใต้หินและกองไม้หรือต้นพืชที่มีลักษณะเป็นเถาปกคลุม ไม่ได้กัดกินเลือดคนเป็นอาหารแต่จะชอบบินเข้ามาเล่นไฟในบ้านเรือนในเวลากลางคืน จึงทำให้คนมีโอกาสที่จะสัมผัสกับแมลงชนิดนี้

พิษของด้วงก้นกระดกเกิดจากสารพิษพีเดอริน (Pederin) ที่อยู่ภายในลำตัวของแมลง เมื่อแมลงไต่ขึ้นมาตามร่างกายแล้วไปตบตีหรือทำให้ลำตัวแตกหัก สารพิษจะซึมเข้าสู่ผิวหนังและร่างกาย ทำให้เกิดเป็นแผลพุพอง บวมแดงและปวดแสบปวดร้อน ที่สำคัญคือต้องระวังไม่ให้สารพิษเข้าตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบจนถึงกับตาบอดได้ ดังนั้นถ้าพบแมลงชนิดนี้ไต่ขึ้นมาตามร่างกายต้องห้ามตีหรือบี้ แต่ควรใช้กระดาษทิชชูหนาๆ ค่อยๆ หยิบแมลงออกจากร่างกาย ถ้าผิวหนังถูกน้ำพิษของด้วงก้นกระดกแล้วห้ามแกะเกา เพราะจะทำให้น้ำพิษกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ยาปฏิชีวนะประเภทครีมทาบริเวณที่ถูกพิษ ถ้ามีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนให้ทาด้วยน้ำยาคาลาไมล์ กรณีที่ตุ่มแผลแตกแล้วเป็นหนองจากการติดเชื้อซ้ำหรือมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์

นพ.อภิชัย บอกต่ออีกว่า นอกจากด้วงก้นกระดกแล้ว จะมีแมลงพิษอีกชนิดหนึ่งคือ ด้วงน้ำมันที่คนมักจะสับสนกับด้วงก้นกระดก ด้วงน้ำมันเป็นแมลงปีกแข็งอีกจำพวกหนึ่ง ตัวมีขนาดใหญ่กว่าด้วงก้นกระดกมากคือ มีลำตัวยาว 2-3 เซนติเมตร อันตรายจากแมลงชนิดนี้คือชาวบ้านมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมลงที่กินได้ จึงนำไปเผาไฟแล้วนำมากินจนเกิดอันตรายถึงกับเสียชีวิต เนื่องจากสารพิษชนิดแคนทาริดิน (Cantharidin) อยู่ในตัวของแมลง สารพิษชนิดนี้จะไม่ถูกทำลายแม้นำแมลงมาเผาไฟหรือนำมาปรุงเป็นอาหาร

ด้วงน้ำมันเป็นแมลงที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เคยได้รับตัวอย่างส่งมาตรวจวิเคราะห์หลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีประชาชนนำไปกินแล้วเกิดพิษ ทำให้เจ็บป่วยหรือบางรายถึงกับเสียชีวิต ซึ่งตามปกติเมื่อด้วงน้ำมันถูกรบกวนจะขับสารพิษออกมาทันที เมื่อสัมผัสถูกกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และเกิดเป็นผื่นพอง ปวดแสบปวดร้อน ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบจนถึงกับทำให้ตาบอดได้เช่นกัน ถ้ากินด้วงน้ำมันเข้าไปจะมีอาการคออักเสบ กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อุจจาระร่วง อาเจียนเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด สลบ และอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว ถ้าได้รับพิษในปริมาณมากคือกินด้วงน้ำมันมากกว่า 3 ตัว

ดังนั้นเราจึงควรป้องกันตัวเองโดยห้ามจับแมลงที่มีลักษณะดังกล่าวมากินโดยเด็ดขาดและไม่ไปกระตุ้นหรือสัมผัสกับแมลงเหล่านี้ รวมทั้งห้ามกินแมลงชนิดใดๆ ที่ไม่รู้จัก ถ้าร่างกายถูกพิษของด้วงน้ำมันสามารถรักษาได้เช่นเดียวกับการถูกพิษของด้วงก้นกระดก แต่ถ้าได้รับพิษจากการกินด้วงน้ำมันต้องรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งนำตัวอย่างแมลงไปแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ