พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี กล่าวในฐานะประธานในพิธีมอบรางวัลฯ ว่า “การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต ภายใต้การใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและบริบททางสังคม นับเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่สมดุลและเรียบง่าย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม เสริมภูมิคุ้มกันทางปัญญา ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม บทบาทของ 6 โรงเรียนดีเด่นถือเป็น “แบบอย่าง” และ “แรงบันดาลใจ” รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ความรู้สู่ “ชุมชน” ในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมคิดและร่วมสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนของสังคมโดยรวมต่อไป"
นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งแรกของไทย เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งมั่นใส่ใจดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นองค์กรที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคม บนพื้นฐานของศักยภาพและความสามารถที่องค์กรมีอยู่ไ”
เอ็กโก กรุ๊ปได้ริเริ่มโครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา “เด็กและเยาวชน” ซึ่งถือเป็นวัยต้นทางของการเรียนรู้และจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต และสนองต่อนโยบายภาครัฐในการสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้าต่อประชาชน โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับ “ครู” และ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นต้นทางในการให้การศึกษา ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้พลังงานและทรัพยากรที่อยู่รอบตัวอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ สำหรับการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการฯ เป็นรูปแบบของการเรียนรู้อย่างรอบด้านเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน โดยครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการโรงเรียน การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การบูรณาการในสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และการเชื่อมโยงสู่ชุมชน
การประกวดรางวัลโรงเรียนดีเด่นประจำปี 2556 ภายใต้โครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีการบูรณาการความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การเรียนการสอน โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบ ที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานโครงการและคำนึงถึงบริบทของท้องถิ่น ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมกับชุมชนในกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งระบบโรงเรียน พัฒนาศักยภาพของโรงเรียนในการเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของชุมชน และเผยแพร่ผลงานของโรงเรียนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นประโยชน์และแบบอย่างต่อโรงเรียนอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่นประจำปี 2556 จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนบ้านเขาเตียน มิตรภาพที่ 134 จ.ลพบุรี บ่มเพาะเยาวชนและนำชุมชนสู่การอนุรักษ์พลังงานในกิจกรรม “สายตรวจมนุษย์ไฟฟ้า และสายตรวจตำรวจน้ำ” เพื่อให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบและอนุรักษ์พลังงาน
- โรงเรียนเทพสถิตวิทยา จ.ชัยภูมิ คิดสร้างสรรค์ ต่อยอดการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการทำ “อุปกรณ์ตากเนื้อแดดเดียว”
- โรงเรียนนิคมวิทยา จ.ระยอง เรียนรู้วิถีชุมชน และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติใน “บ้านพอเพียง” ตัวย่างบ้านประหยัดพลังงาน
- โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” จ.แม่ฮ่องสอน ร้อยเรียงแนวคิด สู่การประยุกต์ใช้ ด้วยการทำ “ปานซอย” หรือการฉลุลายจากเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำไปประดับหลังคาและซุ้มประตู
- โรงเรียนยางฮอมวิทยาคม จ.เชียงราย สร้างสรรค์โครงงานเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า “โครงงานพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์จากโดมพาราโบลา” เพื่อใช้ต้มน้ำอุ่นสำหรับใช้อาบในหอพัก
- โรงเรียนกรอกสมบูรณ์วิทยาคม จ.ปราจีนบุรี ทำกิจกรรม “ปลูกสวนสมุนไพรเพื่อเป็นห้องเรียนธรรมชาติ”ขนาดใหญ่สำหรับนักเรียนและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
"การให้รางวัลแก่ 6 โรงเรียนในครั้งนี้ บริษัทมุ่งหวังให้กำลังใจแก่ครูและโรงเรียนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่องตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ซึ่งเราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมส่งเสริม “ครู” และ “โรงเรียน” พร้อมทั้งยินดีสนับสนุนข้อมูลด้านการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และเปิดให้โรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สำหรับรางวัลที่มอบให้กับโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น บริษัทจะสนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์ จำนวน 3 กิโลวัตต์ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนต่อไป” นายสหัสกล่าวเสริม
นายสุชาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สนพ. มีพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านพลังงานของประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลและมีความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ด้านพลังงาน ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือในโครงการนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจดังกล่าว โดยจะดำเนินการบนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ร่วมกับ “ครู” และ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นผู้นำการเรียนรู้ของสังคมไทย
“สนพ. พร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับพลังงาน ตลอดจนสถานการณ์พลังงานแก่โรงเรียนและครู ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานในโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสื่อสารด้านพลังงานของประเทศ และเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานต่อไป” นายสุชาลีกล่าว
นางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งตระหนักและเห็นคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” นับเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของ สพฐ. ด้วยการเปิดโอกาสให้ “ครู” และ “โรงเรียน” ได้ใช้พลังการเรียนรู้ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกัน พิธีมอบรางวัลโรงเรียนดีเด่น ประจำปี 2556 ภายใต้โครงการนี้ เป็นการยกย่องและเผยแพร่ผลงานของโรงเรียนที่มี ความมุ่งมั่น สามารถเชื่อมโยงแนวคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์และแบบอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในโรงเรียนของตนเองต่อไป”
ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง”
โครงการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อม “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี จนถึงปี 2558 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 60 โรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ผ่านการเรียนรู้ที่มาและคุณค่าของ “ไฟฟ้า” ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต 2) สนับสนุน “โรงเรียนต้นแบบ” ที่มีการส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบโรงเรียน และ “ครูต้นแบบ” ที่บูรณาการเรื่องการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยเชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น 3) ส่งเสริมให้เกิดเวทีแสดงความรู้ความสามารถของ “เด็กและเยาวชน” ในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการดำเนินโครงการ จะเป็นการต่อยอดกิจกรรมจากปีแรก ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การประกวดโครงงานนักเรียน ปีที่ 1 การรับสมัคร “ครูต้นแบบ” การจัดทำสื่อการเรียนรู้เพื่อการใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า และการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเครือข่ายครู เป็นต้น