ปัจจุบัน ยาชีววัตถุ หรือยาไบโอฟาร์มา (Biopharmaceuticals) เป็นยาที่ผลิตโดยใช้กระบวนการ เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ส่วนที่มีการผลิตอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันมีเฉพาะยาที่ทำจากสารเคมี ซึ่งยังมีประสิทธิภาพไม่ดีพอสำหรับการรักษาโรคร้ายแรงบางโรคได้ ดังนั้นยาไบโอฟาร์มาจึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในวงการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มยาไบโอฟาร์มาที่กำลังเป็นที่ต้องการสำหรับการใช้รักษา โรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตนเอง (autoimmune diseases) และโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่เนื่องจากความซับซ้อนของการศึกษาวิจัย กระบวนการผลิตและ การควบคุมคุณภาพจึงทำให้ยากลุ่มนี้มีราคาสูง ส่งผลให้การเข้าถึงยาของผู้ป่วยมีจำกัด
ดร.อากุสติน ลาเฮ ดาวิลา ผู้อำนวยการใหญ่ Center of Molecular Immunology กล่าวว่า CMI ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 เป็นองค์กรวิจัยพัฒนาและผลิตยาไบโอฟาร์มาต้นแบบและ ยาไบโอฟาร์มาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ CMI ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และได้มีการใช้อย่าง กว้างขวาง ในมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก การลงนามในข้อตกลงครั้งนี้ จะเน้นขยายความร่วมมือโดยให้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตยาคุณภาพสูงในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และง่ายต่อการใช้งาน เพื่อกระจายให้ประชาชน ในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลกสามารถเข้าถึงยาไบโอฟาร์มา ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ในระดับสากล
ด้าน ดร.เสนาะ อูนากูล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีความร่วมมือกับ CMI มาตั้งแต่ปี 2553 และได้เริ่มรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตขั้นต้นจาก CMI และจากความร่วมมือระหว่างสององค์กรที่ได้มีมาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นผู้ผลิตยากระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดแดง (erythropoietin หรือ EPO) และยากระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดขาว (filgrastim หรือ GCSF) ในรูปแบบเข็มฉีดยาพร้อมใช้ เพื่อส่งออกให้แก่ลูกค้าของ CMI ทั่วโลก และการลงนามอย่างเป็นทางการ ครั้งนี้ จะครอบคลุมถึงการวิจัยพัฒนา และ ผลิตยาไบโอซิมิลาร์ (Biosimilar) หรือ ยาชีววัตถุคล้ายคลึง ซึ่งคือ ยาไบโอฟาร์มาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว สำหรับใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม และโรคแพ้ภูมิตนเองด้วย
ด้าน ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตยาไบโอฟาร์มาอย่างครบวงจร โดยเฟสแรก คือ โรงงานแบ่งบรรจุและโรงงานผลิตตัวยา สำคัญ โดยใช้การหมักจุลินทรีย์แล้วเสร็จเมื่อปี 2556 ขณะนี้ได้เริ่มรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตขั้นต้น แล้วและด้วยข้อตกลงในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ ผลิตยารักษาโรคได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตตัวยา สำคัญ จนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibodies) ซึ่งยากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มยาไบโอฟาร์มาที่กำลังเป็น ที่ต้องการของวงการแพทย์