มูลนิธิซิตี้จับมือคีนันฯ ส่งโปรเจ็กต์ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน”

ศุกร์ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๐๘:๓๓
มูลนิธิซิตี้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ส่งโปรเจ็กต์ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” แก้โจทย์คนไทย ขาดความรู้และทักษะด้านการเงินเผย 3 กลุ่มที่มีปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ “เกษตรกร - นักเรียนนักศึกษา - รับจ้างรายได้ต่ำ” เปิดเวทีระดมสมองจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการเพื่อร่วมค้นหาทางออก

นายดาเรน บัคลีย์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุสำคัญเป็นเพราะประชาชนมีการบริโภค ใช้จ่ายเกินตัวจนทำให้การเติบโตของรายได้ต่ำกว่าการเติบโตของหนี้สิน ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนขาดความรู้และทักษะทางการเงิน(Financial Literacy) ทำให้มีการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น และไม่ตระหนักรู้ถึงปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวที่กำลังจะมาถึง แม้ว่าหน่วยงานรัฐและเอกชนได้มีโครงการให้ความรู้ด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบปัญหาการบริหารจัดการและแนวปฏิบัติการให้ความรู้ ที่อาจจะยังไม่เหมาะกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ซิตี้ เล็งเห็นว่าการที่จะสร้างรากฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแรง จำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะการเงินให้กับประชาชน เพราะสุขภาพการเงินที่แข็งแรงนั้นจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้นทางมูลนิธิซิตี้จึงได้ร่วมกับสถาบัน คีนันแห่งเอเซียจัดทำโครงการวิจัย “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อหาสาเหตุและทางออกการแก้ปัญหาด้านบริหารจัดการและความรู้เรื่องการเงินสำหรับคนไทย โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลจากผลงานวิจัยต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ฯลฯ และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคคลในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อศึกษาปัญหาและสภาพข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันจากทุกภาคส่วน

ด้านนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า ผลของลัทธิบริโภคนิยม เมื่อรวมกับปัญหาการขาดความรู้และทักษะในการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่เพียงพอของคนไทยนอกจากจะผลักดันให้หนี้ส่วนบุคคล และหนี้ครัวเรือนของประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแล้ว ยังนำไปสู่ปัญหาความไม่พร้อมในการดูแลตนเองหลังการเกษียณอายุเพิ่มสูงขึ้น

จากผลสำรวจของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระดับทักษะการเงินของคนไทยในปี 2556 ซึ่งใช้แนวการสำรวจของ OECD พบว่าคนไทยมีคะแนนทักษะการเงินเฉลี่ยที่ร้อยละ 58.5 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 14 ประเทศ ที่ร่วมโครงการสำรวจของ OECD ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 62.3 และจากการศึกษาเชิงลึกโดยกระทรวงการคลังพบว่า ประชาชน 3 กลุ่ม ที่มีระดับความรู้ทางการเงินในขั้นวิกฤติ และควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือ กลุ่มนักเรียน / นักศึกษา กลุ่มอาชีพอิสระรายได้ต่ำ และกลุ่มเกษตรกร นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Debt-to-GDP) ก็มีตัวเลขที่สูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55.6 เมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นร้อยละ 82.3 เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2556

แม้ที่ผ่านมาหลายๆ องค์กรได้มีโครงการเสริมทักษะด้านความรู้ทางการเงินให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ หากแต่ยังไม่สามารถครอบคลุมประชาชนทั้งหมดได้ เนื่องจากข้อจำกัดในด้านต่างๆ เช่น งบประมาณ เครือข่าย บุคคลากร เครื่องมือและวิธีการให้ความรู้ที่เหมาะสม ทางคีนันจึงเห็นว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางและวิธีการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมแก่ประชาชนในแต่ละกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากการ จัดเวทีระดมสมองจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในหัวข้อ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน : ทิศทางการพัฒนาความรู้เรื่องการเงินของประเทศไทย” เพื่อค้นหาเหตุผลเชิงลึกแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนประชาชนจาก 3 ภาคส่วนที่กล่าวมาในข้างต้นอันจะนำมาซึ่งแนวทางการ ให้ความรู้ที่เหมาะสมแก่ประชาชนในกลุ่มนั้นๆ เพื่อนำไปสู่การผลักดันและส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ทางการเงินอย่างเหมาะสมและเพียงพอแก่ประชาชนต่อไป

เป้าหมายระยะยาวของโครงการฯ มุ่งหวังก่อเกิดความร่วมมือของหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การมีนโยบายเพื่อสร้างความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมแก่ประชาชน และผลักดันให้มีการกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” (National Agenda) ภายใต้การสนับสนุนและร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพของ คนไทย และสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

อนึ่ง ที่ผ่านมามูลนิธิซิตี้ได้ทำโครงการเกี่ยวกับความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ เรื่องความรู้ทางการเงินของมูลนิธิซิตี้ร่วมกับไฟแนนเชียลไทม์ (Citi-FT Financial Education Summit) โครงการผู้หญิงฉลาดออมฉลาดใช้ (At-Risk Women) โครงการครูไทยพอเพียง (Teacher’s Money Sense) เป็นต้น และปี พ.ศ. 2556 มูลนิธิซิตี้ได้สนับสนุนงบประมาณ กว่า 720 ล้านบาท เพื่อช่วยส่งเสริมการให้ความรู้ด้านบริหารจัดการทางการเงิน ในทั่วโลก นอกจากนั้นซิตี้ได้ร่วมกับพนักงานจิตอาสาของซิตี้ ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่ให้ความรู้ด้านการเงินต่างๆ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับประชาชนในแต่ละกลุ่ม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๖:๓๙ คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๖:๐๘ พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๖:๐๑ BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๖:๒๘ บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๖:๐๖ PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๖:๔๖ CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๖:๒๕ ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ