ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะแกนนำผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่าจากการเสนอขายหุ้นระหว่างวันที่ 28-30 เมษายนที่ผ่านมา การขายหุ้นดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีนักลงทุนทั้งประเภทสถาบันและนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจจองซื้อหุ้นเกินสัดส่วนที่จัดสรรเป็นจำนวนมาก จากที่กำหนดเสนอขายทั้งสิ้น 250 ล้านหุ้น ในราคา 6.90 บาท เนื่องจาก SAWAD เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น อีกทั้งราคาเสนอขายที่คิดเป็นอัตรา P/E 11.9 เท่า ถือว่ามีส่วนลดจาก P/E ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึง 23.7% รวมทั้งยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิอีกด้วย
จุดเด่นอีกประการ คือ การที่ SAWAD เป็นหนึ่งในผู้นำให้บริการทางการเงินสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างมานาน 30 ปี มีฐานลูกค้าทั่วประเทศที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อได้ ตลอดจนยังคงความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่สูงตามแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องหนี้เสียที่มีอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.7% เท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยแบบรถแลกเงินรายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีธุรกิจที่แตกต่างจากบริษัทกลุ่มเช่าซื้อที่เข้าจดทะเบียนอยู่แล้วในปัจจุบัน
ทั้งนี้ หุ้นของ SAWAD จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรกในวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 โดยในส่วนของหุ้นเดิม นอกจากจะถูกห้ามขายในสัดส่วนตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แล้ว ผู้ถือหุ้นเดิมเกือบทั้งหมดยังสมัครใจไม่ขายหุ้นในช่วง 6 เดือนแรกอีกด้วย
นางสาวดวงใจ แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ SAWAD กล่าวว่า บริษัทคาดว่าในปีนี้การปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกันครอบคลุมรถทุกประเภท บ้านและที่ดิน ยังคงขยายตัวได้ดี โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มเฉลี่ย 20-30% จากสิ้นปี 2556 ที่ระดับ 5,722 ล้านบาท และภายใน 3 ปี คาดว่าจะมีพอร์ตสินเชื่อแตะที่ระดับ 8 พันล้านบาทได้ ซึ่งเป็นผลดีจากการที่บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งผลให้บริษัทมีความแข็งแกร่งในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องฐานะการเงินที่ทำให้การบริหารต้นทุนทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ปรับลดลง การมีทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้รองรับการขยายธุรกิจได้ในระยะยาว รวมทั้งการให้บริการที่ครอบคลุมแก่กลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินที่มีอยู่ทั่วประเทศได้มากขึ้นจากการเปิดสาขาเพิ่มเติมต่อเนื่องตามแผนคาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีสาขารวม 700 สาขา จากสิ้นปี 2556 ที่มีสาขาอยู่ 602 แห่ง
“สำหรับแนวโน้มหนี้ค้างชำระยังอยู่ในระดับปกติ เนื่องจากบริษัทสามารถควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพและรัดกุมมากขึ้น ตลอดจนมีการประเมินและติดตามหนี้อย่างต่อเนื่องตามแนวทางการให้บริการเป็นปกติ และในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้ารายใหม่ทั้งที่เป็นลูกค้ารายย่อยและลูกค้าเอสเอ็มอีเข้ามาติดต่อสอบถามถึงบริการของบริษัทเพิ่มขึ้นซึ่งบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการจัดเก็บข้อมูลอยู่ หากลูกค้ามีหลักประกันที่ปลอดภาระก็สามารถขอใช้บริการสินเชื่อของทางบริษัทได้” นางสาวดวงใจ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2556 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,937 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 575 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา กำไรสุทธิต่อรายได้รวม (Net Profit Margin) สูงถึง 30% ด้านฐานะการเงิน ณ สิ้นปี 2556 มีสินทรัพย์รวม เท่ากับ 6,046 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ 11% อัตราผลตอบแทน ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ที่ 66% และมีอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับต่ำเพียง 3.7% เท่านั้น