เวทีสาธารณะ "ทีวีดิจิตอลชุมชน" ประสบความสำเร็จ คนอุบลฯร่วมล้นหลาม

ศุกร์ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๑๐:๔๑
คนอุบลฯร่วมผลักดันทีวีดิจิตอลชุมชนดึงทุกภาคส่วนร่วมสร้างต้นแบบ นักวิชาการ ย้ำ ทีวีชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องมาจากชุมชน

มูลนิธิสื่อสร้างสุขจัด “เวทีเตรียมความพร้อม ทีวีดิจิตอลชุมชน” ณ ห้องทับทิมสยาม 4 ชั้น 5 โรงแรมสุนีย์แกรนด์โฮเทลคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ วันที่ 30 เมษายน 2557 จากสนับสนุนของโครงการสะพานโดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บรรยายในหัวข้อ “ทีวีดิจิตอลชุมชนที่อยากเห็น” และร่วมรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายร่วมเสนอความเห็นในหัวข้อเดียวกัน คือ อาจารย์ธีระพล อันมัย อาจารย์หลักสูตรนิเทศศาสตร์ (การประชาสัมพันธ์) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี , นายนพพร พันธุ์เพ็ง นักสื่อสารมวลชน , นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี , นางสาวคำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง , นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ตัวแทนเด็กเยาวชน , นางนภนรรณ ทองเรือง หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลคำน้ำแซบ อีกทั้งยังมีเครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรอิสระ ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 100 คน ร่วมระดมความคิดเห็นกันในช่วงบ่ายอีกด้วย

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ทีวีชุมชน จะเกิดขึ้นได้จริงในไม่ช้านี้ และถ้าอุบลราชธานี จะเป็นพื้นที่นำร่องทีวีดิจิติลชุมชน ก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ไปสู่ระบบดิจิตอลนั้น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ใช้เวลานานกว่า 12 ปี ฉะนั้นที่ประเทศไทยก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้เริ่มทำการเปลี่ยนผ่านนี้ก่อนประเทศแถบเดียวกัน และเมื่อเป็นทีวีดิจิตอล ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ จากการมีทางเลือกในการรับชมข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น จะเพิ่มเป็น 48 ช่อง ซึ่งแบ่งออกเป็นช่องรายการสำหรับบริการทางธุรกิจ (24ช่อง) บริการทางสาธารณะ (12ช่อง) บริการชุมชน (12ช่อง) ตามพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

นายธีระพล อันมัย อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า การจะทำทีวีดิจิตอลชุมชนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้นต้องอาศัย 5 องค์ประกอบ คือ 1.บุคลากร ต้องมีบุคลากรอยู่ประจำ เพื่อดำเนินการ และมีชาวบ้านที่มีอุดมการณ์ มีจิตอาสา ที่จะทำงานร่วมกัน 2.การบริหารจัดการ เน้นการดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เช่น การบริหารจัดการผังรายการ ร่วมผลิตรายการ บริจาคสมทบทุน 3. เนื้อหา เนื้อหาหลักที่ผู้ชมต้องการชม ปฎิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเป็นทีวีชุมชน กลุ่มเป้าหมายก็ต้องการชมเนื้อหาที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เรื่องราวภายในชุมชนที่เกิดขึ้นจริง เป็นหัวใจหลักในการดึงคนเข้ามาชมทีวีของเรา 4. ด้านเทคนิค คือ การผลิตรายการ การรายงานข่าว ภาษาที่ใช้ในการรายงาน คนที่จะมาร่วมทำทีวีชุมชนต้องมีความชำนาญในด้านเทคนิคการตัดต่อ ง่ายต่อการทำงาน 5.งบประมาณ เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ทีวีชุมชนจะอยู่ได้ต้องอาศัยเงิน จะหาทุนนี้จาก การบริจาคจากแฟนคลับ หน่วยงานรัฐ เอกชน มาร่วมสมทบทุน แต่อย่าให้มาครอบเนื้อหาที่ทำ

ทางด้านนายนพพร พันธุ์เพ็ง นักสื่อสารมวลชน ก็มีความคิดเห็นต่อทีวีชุมชนเช่นเดียวกับนายธีระพล อันมัย ว่าต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง 5 นี้ ที่สำคัญคอนเช็ปต้องแม่น ทีวีธุรกิจเห็นผู้ชมเป็นลูกค้าต้องทำตามความต้องการของเขา แต่ทีวีชุมชนเห็นประชาชนเป็นพลเมือง นำเสนอในสิ่งที่ประชาชนควรรู้ ต้องรู้ ต้องทำให้ชุมชน ประชาชน เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องรอภาครัฐฝ่ายเดียว มีอำนาจต่อรองทางสังคม อยากเห็นทีวีชุมชนเป็นห้องเรียนอากาศ ให้ชาวบ้านทำงานร่วมกับองค์กรอิสระ การจะสร้างทีวีชุมชนขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง ถ้าหากขาดข้อหนึ่งข้อใดไปก็คงลำบาก

นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เสนอความเห็นว่า หัวใจหลักของทีวีชุมชนคือต้องคิดให้ชัดว่าเราจะใช้ประโยชน์อะไรจากทีวีช่องนี้ ทีวีช่องนี้จะทำหน้าที่อะไร แล้วร่วมกันสร้างให้เกิด เรื่องงบในการดำเนินการคิดว่าหาไม่ยากหากเราชัดเจนและทำให้เป็นรูปธรรม คนที่จะมาทำงานทีวีชุมชนต้องเป็นคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นใหม่จะมีไฟพลังในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะโลกอนาคตเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่าน ยุคของการแข่งขัน คนทั้ง2รุ่นนี้ จึงต้องทำงานร่วมกันให้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ทีวีชุมชนต้องเป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพชุมชน เชื่อมการเรียนรู้ทั้งในระดับชุมชนและระดับโลก

คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง สะท้อนว่าอยากเห็นทีวีชุมชน เป็นพื้นที่นำเสนอเรื่องราวในชุมชน วิถีชีวิต ประเพณีท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน สะท้อนปัญหา ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ อีกทั้งเป็นเวทีสาธารณะให้ชาวบ้านได้แสดงออก เสนอความคิดเห็น ให้เกิดการแก้ไข

อีกทั้งนายศุภชัย ไตรไทยธีระ ตัวแทนเด็กและเยาวชน กล่าวว่า อยากเห็นทีวีชุมชนเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กและเยาวชน เป็นพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้รับรู้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีเวทีในการแสดงออก ทำให้เกิดทักษะในการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต เชื่อมั่นว่าทีวีชุมชนที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นพื้นให้เด็กและเยาวชนจริงๆ

นอกจากนี้ เครือข่ายที่เข้าร่วม “เวทีเตรียมความพร้อม ทีวีดิจิตอล ชุมชน” ในครั้งนี้ ต่างมีข้อเสนอและสะท้อนมุมมอง ความคิดเห็นที่หลากหลาย รูปแบบรายการของทีวีชุมชน เรื่องราวใกล้ตัวที่อยากนำเสนอ ให้เกิดขึ้นจริงผ่านทีวีดิจิตอลชุมชน ที่จะมีขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version