นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 47 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤษภาคม 2557 โดยมีการประชุมหารือที่สำคัญ ดังนี้
1.การหารือทวิภาคีกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ได้แก่ Citibank Standard Chartered Bank Nomura Securities Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. และ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley Securities เมื่อวันที่ 2 – 3 พฤษภาคม 2557 โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวดีขึ้น และภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่น่าจะสามารถขยายตัวโดยมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นร่วมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยให้สามารถทยอยฟื้นตัวขึ้นมาจากภาคการผลิตของอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรแปรรูป
นอกจากนี้ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ต่างประเทศโครงการลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยและแนวทางการระดมทุนสำหรับโครงการดังกล่าว รวมถึงแผนการออกตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศเพื่อสร้างเส้นอัตราผลตอบแทนอ้างอิง โดยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้แจงว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาจัดทำแผนการลงทุนของโครงการที่มีความพร้อมและแผนการระดมทุนเพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโครงการ โดยการกู้เงินส่วนใหญ่จะเป็นการกู้เงินในประเทศ ทั้งนี้
แผนการระดมทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามขั้นตอนก่อนจะดำเนินการต่อไป
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แสดงความขอบคุณสถาบันการเงินที่ให้ความร่วมมือในการบริหารหนี้และความเสี่ยงเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารหนี้เงินเยนซึ่งเป็นสกุลเงินหลักในยอดหนี้คงค้างต่างประเทศที่ยังไม่ได้บริหารความเสี่ยงของภาครัฐ โดยในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ทำ Cross Currency Swap หนี้สกุลเงินเยนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยวงเงิน 35,332 ล้านเยน ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนการกู้ยืมได้ 1,781
ล้านบาทตลอดอายุสัญญา
2. การประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ Mr. Takehiko Nakao ประธานธนาคารพัฒนาเอเชียเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและการลงทุนในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระดับประเทศ (Country Partnership Strategy: CPS) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
และนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดย ADB ได้มุ่งเน้นการเติบโตแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth)
และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
รวมถึงการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถระดมทุนได้เอง แต่การสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชียทั้งด้านการเงินและด้านวิชาการยังมีความสำคัญและควรมีการกระชับความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน
สำหรับการประชุมครั้งต่อไปในปี 2015 จะจัดขึ้นที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไปจาน และปี 2017 จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับปี 2016 จะต้องรอคำยืนยันจากรัฐบาลไทยที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่อไป