ตามที่กรมศุลกากรได้มุ่งเน้นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามข้อกำกัด เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร จึงสั่งการให้นายไพศาล ชื่นจิตร รองอธิบดี วางแผนร่วมกับนายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม และนายอวยชัย กุลทิพย์มนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการในสังกัดตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษในการสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามสินค้าลักลอบและหลีกเลี่ยงหนีศุลกากร สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าที่เป็นภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมด้วยของกลาง ดังนี้
1. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร โดยสำนักสืบสวนและปราบปรามจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ แผ่นซีดี แว่นตา กระเป๋าสตรี กระเป๋าเป้ รองเท้า ชุดกีฬา เสื้อผ้า วิทยุ และอื่นๆ ยี่ห้อ Rayban , Prada , Chanel , Burberry , Louis Vuitton , Gucci เป็นต้น จำนวน 14,840 ชิ้น มูลค่าประมาณ 27,469,000บาทสุราต่างประเทศ ยี่ห้อ Johny walker red label จำนวน 36 ลัง มูลค่า 432,000 บาท บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 250 แท่ง มูลค่า 150,000 บาท บารากู่ จำนวน 112 กิโลกรัม มูลค่า 134,400 บาท กาแฟลดน้ำหนัก จำนวน 500 กล่อง มูลค่า 50,000 บาท และยาฉีดตัวขาว(กูลต้าไทโอล) จำนวน 90 กล่อง มูลค่า 135,000 บาท สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จับกุมผู้โดยสารชาวอินเดียลักลอบนำทองคำแท่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 5 แท่ง/กิโลกรัม มูลค่า 6,500,000 บาท ของกลางทั้งหมดรวมมูลค่าประมาณ 34,870,400 บาท
2. สินค้าหลีกเลี่ยงอากร และสินค้าต้องห้าม ต้องกำกัด โดยสำนักสืบสวนและปราบปรามจับกุมรถยนต์นั่งส่วนบุคคล นำเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาต ยี่ห้อ Mercedes Benz รุ่น S500 จำนวน 1 คัน มูลค่า 3,000,000 บาท และยี่ห้อ BMW รุ่น 750Li จำนวน 1 คัน มูลค่า 5,000,000 บาท ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือเป็นยานอนหลับชนิดร้ายแรงที่ใช้เรียกในท้องตลาดทั่วไปว่า”ยาเสียสาว”ซึ่งเป็นการถ่ายลำลักลอบขนไปประเทศเพื่อนบ้านและอาจมีการทยอยนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ได้แก่ ยา onax (alprazolam) จำนวน 703,140 กล่อง มูลค่า 42,188,400 บาท ยา xanax (alprazolam) จำนวน 170,220 กล่อง มูลค่า 10,213,200 บาท ยาrazepam (lorazepam) จำนวน 28,800 กล่อง มูลค่า 1,728,000 บาท ยา ativan (lorazepam) จำนวน 8,500 กล่อง มูลค่า 510,000 บาท ยาfrisium (clobazam) จำนวน 18,900 กล่อง มูลค่า 1,134,000 บาท รวมยาออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจำนวน 929,560 กล่อง มูลค่า 55,773,600 บาท ของกลางทั้งหมดรวมมูลค่าประมาณ 63,773,600 บาท
รวมมูลค่าของกลางทั้งสิ้น 98,644,000 บาท
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานลักลอบ และนำหรือพาของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษี หรือของต้องห้าม ของต้องกำกัดหรือของที่ยังไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม หรือข้อกำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 99 มาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16 มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ยึดของกลางนำส่งกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป