เกษตรฯ เตรียมพร้อมภาคเกษตรไทยเริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตปี 57

พุธ ๐๗ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๐๖
เกษตรฯ เตรียมพร้อมภาคเกษตรไทยเริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตปี 57 เน้นทุกส่วนราชการในสังกัดชี้เป้าปัจจัยการผลิตคุณภาพในพื้นที่ รุกเกษตรกรปรับแผนการผลิตสนองความต้องการของตลาด

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกร เพื่อเตรียมพร้อมเกษตรไทยเริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิต ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ ว่า ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝนมีสภาพแวดล้อมของภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเพาะปลูกทางการเกษตร รวมทั้งเป็นช่วงของการประกอบราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นราชประเพณีที่สร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมเกษตรกรรมที่ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกรไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจในการกำกับดูแลให้เกษตรกรไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ในปริมาณ คุณภาพ มาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลความรู้ด้านการตลาด ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มาประกอบการพิจารณตัดสินใจผลิตสินค้า พัฒนาตนเองเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญให้ทุกส่วนราชการได้ออกตรวจเยี่ยม สื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและแนะนำข้อมูลโดยเตรียมข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อให้บริการทางแก่เกษตรกร อาทิ กรมชลประทานได้เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกปี’57 ซึ่งมีแผนจัดส่งน้ำในเขตชลประทาน โดยพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะเริ่มส่งน้ำตั้งแต่เดือนมิถุนายน พื้นที่ภาคกลางและลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มส่งน้ำเดือนพฤษภาคม พื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ฝั่งตะวันออกเริ่มส่งน้ำเดือนกรกฎาคม และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกเริ่มส่งน้ำเดือนตุลาคม ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานนั้นได้เตรียมแผนงานที่จะจัดระบบ Semi Irrigation เข้าไปโดยเฉพาะพื้นที่โซนนิ่ง อีกทั้งกรมพัฒนาที่ดินมีงบประมาณเพื่อการพัฒนาบ่อเก็บน้ำขนาดเล็ก ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรนำข้อมูลแผนการจัดสรรน้ำมาวิเคราะห์พูดคุยภายในกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละลุ่มน้ำและวางแผนการเพาะปลูกที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำในอนาคต

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯยังได้เตรียมข้อมูลสถานที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตประเภทต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายที่กระทรวงฯรับผิดชอบ อาทิ สถานที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว (ชมรมผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว 50 ชมรม ศูนย์ข้าวชุมชน 2,160 ศูนย์ หมู่บ้านส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ 20 หมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร 78 สหกรณ์ และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว 23 ศูนย์ รวมเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ในรอบการเพาะปลูกปี 2557 จำนวน 348,167 ตัน) สถานที่จำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการ จำนวน 20,000 ร้านค้า ซึ่งเป็นร้าน Q Shop 1,200 ร้านค้า สถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกรมปศุสัตว์จำนวน 18,500 ร้าน ซึ่งผลิตจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ 667โรงงาน รวมทั้งการออกตรวจร้านค้าและสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ จนถึงการให้ความรู้ วิธีการเลือกซื้อและตรวจสอบคุณภาพปัจจัยการผลิตด้วย ซึ่งทุกส่วนราชการจะต้องให้คำแนะนำวิธีการปฏิบัติที่ดีในกระบวนการผลิตที่นำไปสู่การรับรองมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้านั้นๆ ผ่านร้านอาหาร Q Restaurants จำนวน 1,245 ร้าน นอกจากข้อมูลในด้านปัจจัยการผลิตในพื้นที่แล้ว ข้อมูลสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลด้านการตลาด และแนวโน้มราคาสินค้า โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้จากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่จังหวัด อำเภอที่เกษตรกรอาศัยอยู่

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรทุกท่านได้ศึกษาหาข้อมูลความรู้ทั้งด้านการตลาดและการผลิตมาคิดวิเคราะห์ และเตรียมความพร้อมก่อนลงมือเลือกสินค้าที่จะผลิต โดยจะต้องพิจารณาว่าพืชหรือสัตว์ที่จะปลูกจะเลี้ยงมีแนวโน้มราคาจะดีหรือไม่เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณน้ำ ภูมิอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นอย่างไรเหมาะสมกับพืชและสัตว์ที่จะผลิตตลอดรอบการผลิตหรือไม่ (Zoning) พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ปุ๋ย และสารเคมีที่มีคุณภาพมาตรฐานและราคาเหมาะสมจะซื้อจากแหล่งใด ปริมาณการใช้ที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างไร การเตรียมดินเตรียมโรงเรือนที่เหมาะสมเป็นอย่างไรเพื่อให้พืชและสัตว์เจริญเติบโตด้วยต้นทุนที่เหมาะสมสามารถแข่งขันได้ การรู้จักการป้องกัน ควบคุม กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต และการจัดทำบัญชีฟาร์มเพื่อทราบต้นทุนและการตั้งราคาที่เหมาะสม รวมถึงจะขายให้กับใครที่ใหน ข้อมูลต่างๆที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่เกษตรกรทุกคนจะต้องศึกษาวิเคราะห์ในทุกครั้งที่จะเริ่มรอบการผลิตใหม่ เนื่องจากว่าปัจจุบันสภาพภูมิอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ การอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำของโรคและแมลง และที่สำคัญภาวะตลาดสินค้าเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

“การมีข้อมูลและความพร้อมที่ดีกว่าจะเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ ไม่ขาดทุน จึงขอเน้นย้ำให้เกษตรกรทุกท่านตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องข้อมูล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมที่จะเป็นเพื่อนคู่คิด ให้ข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ ให้บริการและอำนวยความสะดวกในด้านวิชาการ ด้านการใช้กฎหมายกำกับดูแลให้มีปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐานจำหน่าย อันเป็นนโยบายเชิงรุกที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ และจะดำเนินการตลอดทั้งปีในทุกปี ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการภายใต้นโยบาย Zoning และนโยบาย Smart Farmer” นายยุคล กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ