อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกบั่นทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัท นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ให้เช่าจากการกู้ยืมที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตจะทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องในระบบการจัดการความเสี่ยงและสถานะทางธุรกิจของบริษัท ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์โดยการเพิ่มความหลากหลายของฐานลูกค้าและรักษาฐานลูกค้ารายใหญ่กลุ่มเดิม รวมทั้งรักษาระดับคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ได้ พร้อมทั้งปรับเพิ่มผลประกอบการทางการเงินโดยอาศัยจุดแข็งต่าง ๆ จากสถานะผู้นำตลาด นอกจากนี้ บริษัทจะต้องปรับเพิ่มฐานทุนเพื่อรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินให้เป็นไปตามความคาดหมายของทริสเรทติ้งด้วย
บริษัทภัทรลิสซิ่งยังคงรักษาสถานะผู้นำในตลาดเช่าดำเนินงานรถยนต์เอาไว้ได้โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่ารวมของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 30 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง บริษัทให้บริการเช่าดำเนินงานและเช่าการเงินแก่ลูกค้านิติบุคคลที่เป็นบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมีสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิที่ระดับ 9,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากระดับ 7,875 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 ลูกหนี้สินทรัพย์ให้เช่าการเงินก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 1,631 ล้านบาทในปี 2556 จากระดับ 1,487 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555
การมีเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศช่วยเพิ่มระดับความสามารถของบริษัทในการให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ การพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ให้ประโยชน์แก่บริษัทจากการประหยัดต่อขนาด แต่ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าทั้งในด้านการผิดนัดชำระหนี้และการพึ่งพิงรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้บรรเทาลงจากการที่ลูกค้ารายใหญ่มีคุณภาพเครดิตที่ค่อนข้างดี บริษัทมีความพยายามในการกระจายฐานลูกค้าซึ่งสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงการกระจุกตัวของฐานลูกค้ารายใหญ่ทั้ง 20 ราย เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงานและสินเชื่อคงค้างภายใต้สัญญาเช่าการเงินแล้วปรากฏว่าลูกค้ารายใหญ่ 20 รายแรกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทในปี 2556 ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 56% ในปี 2552 นอกจากนี้ ลูกค้ารายใหญ่ทั้ง 20 รายของบริษัทยังกระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
หลังจาก บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในปี 2549 แล้ว ตัวแทนของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตซึ่งเข้ามามีบทบาทโดยผ่านช่องทางคณะกรรมการบริษัทก็ได้ให้การสนับสนุนความพยายามในการพัฒนาระบบการจัดการความเสี่ยงของบริษัท ทั้งนี้ ระบบการจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้เมื่อมีการขยายธุรกิจไปสู่สินทรัพย์ประเภทอื่นซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์ประเภทรถยนต์ ความพยายามดังกล่าวสะท้อนจากความสามารถในการรักษาระดับอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นปี 2556 บริษัทไม่มีลูกหนี้สัญญาเช่าดำเนินงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของลูกหนี้สัญญาเช่าการเงินอยู่ที่ระดับ 0.01% เท่านั้น
ในปี 2556 ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคารถยนต์มือสอง ความต้องการรถยนต์มือสองในปี 2556 ลดต่ำลงมากเนื่องจากนโยบายด้านภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกของรัฐบาลได้กระตุ้นยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วงปี 2555-2556 ราคารถยนต์มือสองที่ลดลงส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าที่น้อยลง อีกทั้ง บริษัทยังได้เลื่อนการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดอายุสัญญาเช่าบางส่วนออกไป ส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าลดลงมาอยู่ที่ระดับเพียง 49 ล้านบาทในปี 2556 จาก 124 ล้านบาทในปี 2555 กำไรสุทธิก็ปรับลดลงเป็น 205 ล้านบาทในปี 2556 จาก 241 ล้านบาทในปี 2555 ตลาดรถยนต์มือสองคาดว่าจะฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2557 และกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทคาดว่าจะฟื้นตัว ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทน่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงทั้งในธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์และเช่าการเงินจะยังคงเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทใช้เงินทุนจากการกู้ยืมในการขยายฐานสินทรัพย์เป็นหลัก บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 4.8 เท่า ณ สิ้นปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 3.1 เท่าในปี 2553 และจากที่คาดว่าความสามารถในการทำกำไรจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจึงคาดว่าจะยังคงถดถอยลง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถปรับเพิ่มระดับผลประกอบการและควบคุมอัตราส่วนหนี้สินไว้ได้ ทั้งนี้ บริษัทได้พยายามรักษานโยบายการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินที่เข้มงวดด้วยการบริหารอายุของหนี้ผ่านการกู้ยืมระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาของสัญญาเช่าสินทรัพย์