สำหรับรูปแบบของการระบายสต็อกยางนั้นคณะทำงานชุดที่ตั้งขึ้นจะเป็นผู้กำหนด โดยกรอบดำเนินการการนั้นจะทำในทุกรูปแบบที่จะสามารถระบายสต็อกยางไปสู่ตลาดโดยเร็วทั้งการแปรรูปเพื่อใช้ภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
“เนื่องจากในช่วงนี้ไม่มีผลผลิตยางออกสู่ตลาด จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการระบายยางสต็อกที่ค้างอยู่ออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ยางดังกล่าวกระทบกับราคายางที่จะออกสู่ตลาดอีกครั้ง เพราะเดือนพฤษภาคมนี้ยางฤดูกรีดใหม่ก็จะออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้น แม้สถานการณ์ราคายางในขณะนี้ยังเป็นช่วงขาลง แต่การเก็บยางเอาไว้ก็จะยิ่งทำให้คุณภาพของยางเสื่อมลงและมีผลต่อราคาขาย ประกอบกับปริมาณสต็อกยางที่ตลาดชิงเต่าของจีน มีอยู่ถึง 358,900 ตัน ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของค่าบริหารจัดการในการเก็บยางไว้เฉลี่ยเดือนละ 20 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการระบายยางในสต็อกส่วนนี้ออกไปโดยเร็ว ทั้งนี้ คาดว่ารายละเอียดการดำเนินการต่างๆ น่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคมนี้” นายยุคล กล่าว