ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยห้องปฏิบัติการวิจัยโพรโตคอลและเครือข่ายไร้สาย ร่วมกับ โรงพยาบาลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงสาธารณสุข จัดสาธิตการใช้งานโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัว (Family Folder Collector: FFC Plus) ด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา (Tablet) โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใช้เยี่ยมบ้าน ซึ่งเพิ่มคุณลักษณะใหม่ อาทิ เก็บข้อมูลบ้านที่มีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บ้านที่มีคุณแม่หลังคลอด บ้านที่มีผู้สูงอายุทั่วไป และงานระบาดวิทยา (บริการใหม่) ลงพื้นที่ใช้งานจริง ณ ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภี โรงพยาบาลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมอบรมเชิงปฏิบัติการใช้งานโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัว ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ จังหวัดเชียงใหม่
กำหนดการ
๑๓.๓๐น. คณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่เดินทางถึง ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภี
๑๓.๔๐น. นายแพทย์จรัส สิงห์แก้ว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่
กล่าวต้อนรับ พร้อมแนะนำบริการทางสาธารณสุขต่างๆ ของทางศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภี
๑๔.๐๐น. ดร.กว้าน สีตธะนี
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสนับสนุนงานด้านบริการสาธารณสุข
๑๔.๑๕น. คุณวัชรากร หนูทอง นักวิจัย จากห้องปฏิบัติการวิจัยโพรโตคอลและเครือข่ายไร้สาย (WNP)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
แนะนำโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัว (Family Folder Collector:FFC Plus) คุณลักษณะต่างๆ สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใช้เยี่ยมบ้าน
๑๔.๓๐ น. ทีมสาธารณสุข พร้อม นักวิจัย และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูล FFC Plusการบริการ สาธารณสุขในท้องถิ่น
ตัวอย่างบ้านที่ลงพื้นที่ (เพื่อดูวิธีใช้งานจริงในการบันทึกข้อมูลของโปรแกรม FFC Plus)
1.บ้านที่มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จุดประสงค์เพื่อคัดกรอง NCDบริเวณใกล้ศูนย์สุขภาพชุมชน
2.บ้านที่มีคุณแม่หลังคลอด จุดประสงค์ เยี่ยมคุณแม่หลังคลอดและดูพัฒนาของเด็กแรกเกิด
3.บ้านที่มีผู้สูงอายุทั่วไป
4.งานระบาดวิทยา (บริการใหม่) จุดประสงค์ แสดงบ้านที่มีผลกระทบต่อโรคระบาดที่เกิดบน แผนที่ เพื่อควบคุมโรคต่อไป
โปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัว (Family Folder Collector: FFC Plus) เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้เก็บแฟ้มข้อมูลทางสาธารณสุขระดับหลังคาเรือน (Family Folder) บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาหรือที่เรียกว่า แท็บเล็ต (Tablet) ใช้ทดแทนการเก็บแฟ้มข้อมูลระดับหลังคาเรือนด้วยแฟ้มกระดาษในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาของระบบเดิม คือข้อมูลไม่ทันสมัย ไม่สามารถสืบค้น วิเคราะห์ข้อมูล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับการให้บริการในด้านสาธารณสุขภายในประเทศอีกด้วย
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ffc.in.th/