รพ.ราชวิถี เปิดตัวเครื่อง PEM เครื่องแรกในภูมิภาคอาเซียน ตรวจหามะเร็งเต้านมได้แม่นยำ

พฤหัส ๐๘ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๑๗:๑๕
โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เปิดตัวเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมอนุภาคโพสิตรอน ซึ่งเป็นเครื่องแรก ในภูมิภาคอาเซียน โชว์เทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัย ละเอียด แม่นยำ สามารถตรวจหามะเร็งขนาดเล็กได้ถึง 2 มิลลิเมตร เพิ่มคุณภาพในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์ถ่ายภาพเต้านมอนุภาคโพสิตรอน (Positron Emission Mammography Center หรือ PEM ) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องประชุมตึก EMS ชั้น 2 โรงพยาบาลราชวิถี ว่า จากรายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ซึ่งจัดทำโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่าปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดของหญิงไทย โดยมีผู้ป่วยทั่วประเทศสูงกว่า 20,000 คนต่อปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 คือปีละประมาณ 4,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

กรมการแพทย์จึงได้หาแนวทางป้องกันเพื่อลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต โดยการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก รวมทั้งเฝ้าระวังโดยอาสาสมัครและแกนนำรณรงค์สอนให้ผู้หญิงเรียนรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เนื่องจากมะเร็งเต้านมหากตรวจพบในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกสามารถทำได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammography) และอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากการตรวจพื้นฐาน จึงได้จัดหาเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัยมาใช้ในการให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อยืนยันและเพิ่มคุณภาพการตรวจรักษาและวินิจฉัยมะเร็งเต้านม โดยนำเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมอนุภาคโพสิตรอนหรือเครื่อง PEM ซึ่งเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคอาเซียนมาใช้ในโรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้งเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ในการวิจัย ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่อง PEM ออกแบบมาเพื่อตรวจเต้านมโดยเฉพาะ มีโปรแกรมช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยเพื่อส่งตรวจ โดยมีความละเอียดสามารถตรวจหามะเร็งที่มีขนาดเล็กได้ถึง 2 มิลลิเมตร การทำงานใช้หลักการถ่ายภาพรังสีแกมมาพลังงานสูงที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีชนิดให้อนุภาคโพสิตรอน ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ สารนี้จะถูกจับโดยเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ ของร่างกายในปริมาณที่แตกต่างกัน มะเร็งเต้านมมีการแบ่งตัวในอัตราที่รวดเร็วทำให้ต้องการอาหารซึ่งคือน้ำตาลในปริมาณมาก ก้อนมะเร็งจึงจับสารเภสัชรังสีในปริมาณที่มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ดังนั้นการถ่ายภาพเต้านมด้วยเครื่อง PEM จะได้ภาพรังสีของเนื้อเยื่อ ที่เป็นมะเร็งเต้านมเป็นจุดสว่างเมื่อเทียบกับเนื้อเต้านมปกติ การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงต่อผู้ป่วย 1 ราย จึงสามารถให้บริการตรวจผู้ป่วยได้ไม่เกินวันละ 4 ราย ปัจจุบันศูนย์ถ่ายภาพเต้านมอนุภาคโพสิตรอนได้ทำการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไปแล้ว จำนวน 11 ราย

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งาน เวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2354-8108 ต่อ 2516

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ