ศาสตราจารย์ซาร่าห์ ดิซอน คณบดีของ IBSS ได้กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านสู่มหาวิทยาลัย XJTLU และให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยบริหารธุรกิจ “แม้ว่าเราจะเป็นสถาบันใหม่ แต่เราก็กำลังสร้างประวัติศาสตร์ของสถาบัน นั่นคือประวัติศาสตร์ด้านวิชาเศรษฐศาสตร์” ศจ.ดิซอนอธิบาย “การสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านการวิจัยให้กับเรา ซึ่งจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นหนึ่งในวิทยาลัยบริหารธุรกิจชั้นนำระดับโลก และช่วยให้เราสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมผ่านการศึกษา การวิจัย และการมีส่วนร่วมทางธุรกิจ”
จากนั้น ดร.นิเมช ซาลิเก หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ของ IBSS ได้เชิญชวนให้แขกผู้มีเกียรติร่วมอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปัจจุบัน เช่น นโยบายทางการเงิน การสร้างแบบจำลองทางทฤษฎี การค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และสวัสดิการสังคม เป็นต้น
ในวันแรกของการสัมมนามีการนำเสนอเอกสารทางวิชาการมากกว่า 11 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย การนำเสนอจากศาสตราจารย์หลายท่านของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลและมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ในสหราชอาณาจักร รวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงินตะวันตกเฉียงใต้ในจีน
การสัมมนาวันที่สองเริ่มต้นด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกจากมุมมองของจีนโดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่างๆ ตั้งแต่พฤติกรรมความร่วมมือในชนบทของจีน ไปจนถึงการเปรียบเทียบความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศนวัตกรรมกับความร่วมมือเชิงวิชาการ-อุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรและจีน
รองศาสตราจารย์โรนัลด์ ชรัมม์ จาก IBSS อธิบายว่า “ปัจจุบันมีข่าวความขัดแย้งในประชาคมเอเชียแปซิฟิกมากเหลือเกิน ในการประชุมนี้เราจึงทำการวิเคราะห์กันตามเวลาจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นจากมุมมองของนักวิชาการชั้นนำระดับโลก ว่าด้วยเรื่องของการผสมผสานและความร่วมมือในเอเชียแปซิฟิก”
ดร.ซาลิเกเป็นประธานการประชุมช่วงบ่าย ซึ่งประกอบด้วยการอภิปรายเชิงเศรษฐศาสตร์ในการศึกษาระดับนานาชาติต่างๆ พร้อมกันนั้นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสึกุบะและมหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติในญี่ปุ่น ได้นำเสนอเอกสารต่างๆว่าด้วยความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดน รวมถึงการค้าและการทูต
ดร.พอลโล เรจิส ผู้ร่วมจัดการสัมมนาและรองศาสตราจารย์จาก IBSS ได้ปิดการสัมมนาด้วยการอภิปรายเรื่องการกำกับดูแลทางการเงินร่วมกับปีเตอร์ มอร์แกน จากสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียในญี่ปุ่น รวมทั้งอภิปรายเกี่ยวกับหลักฐานเชิงประจักษ์เพิ่มเติมในเรื่องความกลัวการขาดทุน (Loss Aversion)
ข้อมูลเพิ่มเติม
xjtlu.edu.cn/en/
ติดตามเราได้ทาง
facebook.com/xjtlu
weibo.com/xjtlu
twitter.com/xjtlu
แหล่งข่าว: มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง-ลิเวอร์พูล