ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงนามความร่วมมือกับ 16 สถาบันการศึกษา ผลิตงานวิจัยด้านตลาดทุน

จันทร์ ๑๙ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๑๗:๕๓
สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ 16 สถาบันการศึกษา ชั้นนำใน “โครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุนระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปี 2557” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 หนุนนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก สร้างผลงานวิจัยด้านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย พร้อมจัดพิธีมอบรางวัลงานวิจัยดีเด่นด้านตลาดทุน ประจำปี 2556 โดยผลงานวิจัยของนิสิตปริญญาโท จากสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ เรื่อง “ประสิทธิผลของมาตรการแคชบาลานซ์ (Cash Balance) สำหรับหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด” คว้ารางวัลงานวิจัย “ดีเด่น”

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลงานวิจัยมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาประเทศ รวมถึงนำมาใช้พัฒนาธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าและเติบโตได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่เข้มข้นในปัจจุบัน ธุรกิจตลาดทุนก็เช่นเดียวกันต่างมีการแข่งขันกันสร้างบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง การผลิตงานวิจัยด้านตลาดทุนที่สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมจึงมีส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาตลาดทุนไทยให้ทัดเทียมสากล ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุนระดับบัณฑิตศึกษา แก่สถาบันการศึกษาชั้นนำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2557 นี้ ได้จัด “โครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุนระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปี 2557” ขึ้นเป็นปีที่ 4 โดยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 16 แห่ง เพื่อผลิตผลงานวิจัยด้านตลาดทุนสู่ตลาดทุนไทย

สำหรับในปี 2556 มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นคว้ารางวัลงานวิจัยด้านตลาดทุน ระดับปริญญาโท รางวัล “ดีเด่น” ได้แก่ เรื่อง “ประสิทธิผลของมาตรการแคชบาลานซ์ (Cash Balance) สำหรับหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด” โดย นายศิรภพ ปภัทธนนันท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รางวัล “ดี” ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ความเสี่ยงภายในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์เอเชียตะวันออก Systemic Risk Analysis of East Asian Stock Markets” โดย นายอภิชาติ วิศิษฏ์กิจการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัล “ชมเชย” ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง “An analysis of short sale and speed of price adjustment: evidence from the Stock Exchange of Thailand” โดยนายกวินทร์ วีรวัฒน์สุนทร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนระดับปริญญาเอก ไม่มีผู้ได้รับรางวัล “ดีเด่น” และ “ดี” ส่วนรางวัล “ชมเชย” ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง “The Effect of Corporate Governance on Earnings Management in Thai Market” โดย นายนพพล ตั้งจิตพรหม คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ส่วนรางวัล “ขวัญใจผู้ประกอบการในธุรกิจตลาดทุนไทย” ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง “Selection of Investment Strategies in Thai Stock Market” โดย นายธนะชัย บุญสายทรัพย์ (ระดับปริญญาเอก) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล รวมทั้งผู้ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการที่ได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านตลาดทุนเพื่อประโยชน์แก่ตลาดทุนไทย พร้อมกันนี้ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งภาคสถาบันการศึกษาและตลาดทุนที่ให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่การจัดทำงานวิจัย” นายจรัมพรกล่าว

โครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุนระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปี 2557 สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน จะสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยด้านตลาดทุนแก่สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมจัดให้มี “คลินิกงานวิจัยด้านตลาดทุน” ขึ้น เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ในตลาดทุนทั้งจากบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้วิจัยและนักวิชาการได้เข้าใจข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติในธุรกิจตลาดทุนไทย นับเป็นโอกาสให้ผู้วิจัยได้รู้จักกับบุคลากรในตลาดทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคตลาดทุนต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาจะต้องนำส่งงานวิจัยจำนวน 2 เรื่อง และนำเสนองานวิจัยดังกล่าว โดยจะมีการคัดเลือก “ผลงานวิจัยดีเด่นด้านตลาดทุน” เพื่อกระตุ้นให้มีการแข่งขันระหว่างสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ผลิตงานวิจัยด้านตลาดทุนที่มีคุณภาพ โดยจะมีผู้ประกอบธุรกิจตลาดทุนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินด้วย

สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม. เกษตรศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราคา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร ม.นเรศวร คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล ม.หอการค้าไทย และ คณะบริหารธุรกิจ ม.อัสสัมชัญ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ