การเข้าร่วมเทศกาลดังกล่าว เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพื่อสะท้อนถึงความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในเวทีโลก โดยได้นำกิจกรรมที่มีความหลากหลายไปร่วมจัด ได้แก่ การเปิดบูธประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (Thailand Pavilion) ณ หมู่บ้านนานาชาติ (International Village) เพื่อประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในภาพรวม รวมทั้งส่งเสริมและชักชวนให้นักลงทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนเข้าร่วมเจรจาหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย โดยมีพื้นที่เปิดคูหาจำหน่ายภาพยนตร์ไทย ณ ตลาดภาพยนตร์เมืองคานส์ (Marche Du Film) ซึ่งมีผู้ประกอบการรายย่อยสนใจร่วมเปิดคูหาจำหน่ายภาพยนตร์ไทยกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท พระนครฟิล์ม จำกัด บริษัท กลองชัย พิคเจอร์ จำกัด บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด บริษัท เออร์บันนีซ จำกัด บริษัท พาสเทล บูล สตูดิโอ จำกัด และบริษัท ดิ วอร์เรน พิคเจอร์ จำกัด ขณะเดียวกัน ยังมีบริษัทที่ได้มาเปิดคูหาจำหน่ายภาพยนตร์ไทย อีก 2 บริษัท คือ บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม ไทย หับ จำกัด โดยบริษัทต่างๆ ข้างต้นได้นำภาพยนตร์ที่จะจัดจำหน่ายไปจัดฉายในให้ผู้ซื้อ (Buyer) ที่เข้าร่วมตลาดภาพยนตร์เมืองคานส์ ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ดังกล่าวอีกด้วย
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า มิติของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมูลค่ามหาศาล มีอิทธิพลและส่งผลกระทบโดยตรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้นเราจะต้องเร่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดสากลโดยเฉพาะตลาดภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมามีความสำคัญเป็นอันดับที่ 4 ของทวีปเอเชีย รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น และมีคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศมาเลเซียด้วย