บริษัทก่อตั้งในปี 2516 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2532 ณ เดือนกันยายน 2556 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทคือตระกูลเพ็ญชาติและตระกูลเหล่าวิวัฒน์วงศ์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 36% และ 21% ตามลำดับ
บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเซรามิครายใหญ่อันดับ 3 ของไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 15% สินค้าหลักที่บริษัทผลิต ได้แก่ กระเบื้องโมเสก กระเบื้องเซรามิคปูพื้น กระเบื้องเซรามิคบุผนัง และกระเบื้องตกแต่ง ซึ่งจัดจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงในตลาด 2 ตรา ได้แก่ “ดูราเกรส” และ “ดูราเกรส-ลีลา” บริษัทจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี โดยมากกว่า 90% ของสินค้าจำหน่ายผ่านทางผู้จัดจำหน่ายของบริษัทและผู้ค้าปลีกสินค้าตกแต่งบ้านชั้นนำต่าง ๆ
ในช่วงกลางปี 2555 บริษัทได้ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทโรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม ในสัดส่วนประมาณ 32% และบริษัท ที.ที. เซรามิค ในสัดส่วน 89% โดยบริษัทโรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม ถือเป็นผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องเซรามิคของไทย ปัจจุบัน บริษัทเน้นผลิตกระเบื้องบุผนังที่มีคุณภาพสูงภายใต้ตราสัญลักษณ์ “อาร์ซีไอ” ในขณะที่บริษัท ที.ที. เซรามิคเป็นผู้ผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนตราสัญลักษณ์ “เซอเกรส” ซึ่งเป็นกระเบื้องคุณภาพสูงสำหรับตลาดบน การลงทุนในบริษัททั้ง 2 แห่งส่งผลให้กำลังการผลิตรวมของบริษัทสูงขึ้นเป็น 34 ล้านตารางเมตร ต่อปี และส่วนแบ่งทางการตลาดกระเบื้องเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 15% ในปี 2555 โดยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากกลุ่มปูนซีเมนต์ไทยซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 40% และ บริษัท ไดนาสตี้ เซรามิค จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 30% ปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักจากการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นดูราเกรสซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 50% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วยกระเบื้องบุผนังดูราเกรส-ลีลา และกระเบื้องเซอเกรสของบริษัท ที.ที. เซรามิค
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยก่อนที่จะซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค บริษัทมีรายได้เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 2,650 ล้านบาทและมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% แต่หลังจากการซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค ในเดือนกรกฎาคม 2555 แล้ว ยอดขายของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 3,288 ล้านบาทในปี 2555 หรือเติบโต 22.8% จากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3,736 ล้านบาทในปี 2556 คิดเป็นอัตราการเติบโต 13.6% จากปี 2555 รายได้จากบริษัท ที.ที. เซรามิค ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัท ที.ที. เซรามิค ยังอยู่ที่ระดับ 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมด จึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัท ที.ที. เซรามิค จะยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเพิ่มได้อีกหากบริษัทสามารถเปิดตลาดการขายกระเบื้องพอร์ซเลนได้สำเร็จ
ความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทลดต่ำลงเนื่องจากรวมผลประกอบการที่ยังไม่แข็งแรงของบริษัท ที.ที. เซรามิค อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อรายได้) ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 11.3% ในปี 2554 เหลือ 5.6% ในปี 2556 โดยบริษัท ที.ที. เซรามิค มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 103 ล้านบาทในปี 2556 หรือคิดเป็นติดลบ 14.3% เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อรายได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีอัตราหนี้สินที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค และบริษัทโรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 31.3% ในปี 2554 เป็นประมาณ 53% ในปี 2556 ยอดหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 617 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 2,077 ล้านบาทในปี 2556 โดยสัดส่วนหนี้ที่มีขนาดใหญ่หรือประมาณ 879 ล้านบาทของหนี้สินทั้งหมดเป็นหนี้จากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ที.ที. เซรามิค อย่างไรก็ตาม หนี้สินส่วนนี้มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและมีตารางการผ่อนชำระที่ยาว ในขณะที่หนี้อีก 400 ล้านบาทของหนี้สินทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมเพื่อใช้ซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค
ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงของบริษัทประกอบกับระดับหนี้สินที่สูงขึ้นส่งผลให้สภาพคล่องซึ่งวัดด้วยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงจาก 42% ในปี 2554 เหลือ 15% ในปี 2555 และ 8.5% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหนี้จากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทที.ที. เซรามิคมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำ จึงส่งผลให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายยังอยู่ที่ระดับ 5 เท่าในปี 2556 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
ในอนาคต ทริสเรทติ้งยังคงมีความกังวลต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ที.ที. เซรามิค และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายในประเทศ กล่าวคือ หากเศรษฐกิจในประเทศยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง บริษัทอาจจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการเพิ่มยอดขาย และอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัท ที.ที. เซรามิค ทั้งนี้ ผลประกอบการที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นของบริษัท ที.ที. เซรามิค คาดว่าจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อกำไรโดยรวมของบริษัทต่อไปอีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่ที่เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพสินค้าซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคม 2557 ก็คาดว่าจะช่วยลดปริมาณสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพต่ำซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของการแข่งขันในตลาดลงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตกระเบื้องจากต่างประเทศก็จะปรับตัวและพัฒนาคุณภาพกระเบื้องให้ตรงตามมาตรฐานสินค้าไทยที่กำหนดเอาไว้ได้ในที่สุดและสามารถส่งออกสินค้าสู่ประเทศไทยได้อีก ดังนั้น ประโยชน์ที่จะเกิดจากกฎหมายควบคุมคุณภาพสินค้าดังกล่าวจึงยังคงต้องติดตามผลต่อไป
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของบริษัทน่าจะเติบโตถึงระดับ 4,000 ล้านบาทต่อปีตามประมาณการพื้นฐาน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทจะมาจากการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ที.ที. เซรามิคซึ่งน่าจะมีผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยน่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 6%-10% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยลดลงจาก 52% ณ สิ้นปี 2556 เหลือ 40%-45% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทไม่น่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ที่มากกว่า 500 ล้านบาทในอนาคตอันใกล้นี้
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าสถานะการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยเป็นผลจากการฟื้นฟูผลประกอบการของ บริษัท ที.ที. เซรามิค อันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับขึ้นหากผลประกอบการโดยรวมของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและดีกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งในช่วง 6-18 เดือนข้างหน้า ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้มก็อาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัท ที.ที. เซรามิค ลดลงต่ำกว่าที่คาดและดึงผลประกอบการโดยรวมของบริษัทให้ต่ำกว่าระดับในปัจจุบัน
บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (UMI)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable