Fitch เห็นว่า การที่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นปัจจัยเชิงลบที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อสถานะความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ ความรวดเร็วของประเทศไทยในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งการทำรัฐประหารได้เน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แสดงถึงความท้าทายต่อการจัดตั้งกระบวนการใหม่ที่จะนำไปสู่รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
โดย Fitch เห็นว่า ปฏิกิริยาตอบสนองทางการเมืองต่อการทำรัฐประหารจะเป็นเพียงความวุ่นวายในระยะสั้นเท่านั้น การยอมปฏิบัติตามรัฐบาลใหม่ที่มาจากกองทัพหรือที่มีกองทัพหนุนหลังอย่างกว้างขวาง ตามด้วยกระบวนการที่โปร่งใสที่นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองในที่สุด
อย่างไรก็ดี การที่กลุ่มทางการเมืองหลักไม่ยอมรับการทำรัฐประหารอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า ที่ตึงเครียดขึ้นและเสี่ยงต่อการบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากกระบวนการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองยังไม่เรียบร้อยภายในช่วงต้นของครึ่งปีหลังแล้ว Fitch คาดว่า อาจเกิดความเสียหายที่ยาวนานต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในที่สุด
นอกจากนี้ Fitch คาดว่าจะปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยใน ปี 2557 ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.5 ลงอีกบนพื้นฐานของความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่และข้อมูลทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจไทยได้หดตัวลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรัฐบาลเองได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมาอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 – 4
Fitch เห็นว่า การที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะที่ดีเพียงพอที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในช่วงสั้นๆ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign Currency IDR) ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ BBB+ นอกจากนี้ ปัจจัยรองรับทางด้านเศรษฐกิจมหภาคยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านทานแรงกดดันได้ในระยะสั้นถึงแม้ว่าตลาดของไทยจะอยู่ในสภาวะที่แย่กว่าประเทศในภูมิภาคอันเนื่องมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาและการเผชิญกับการไหลออกของเงินทุน ซึ่งปัจจัยรองรับดังกล่าวรวมถึงสถานะในการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิที่แข็งแกร่งที่คิดเป็นร้อยละ 35 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หนี้รัฐบาลที่อยู่ในระดับปานกลางที่คิดเป็นร้อยละ 32 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบและมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของไทยในระยะยาว คือ ประเทศไทยจะสามารถก้าวผ่านความแตกแยกทางสังคมและสามารถบริหารประเทศได้อย่างปกติหรือไม่ ซึ่ง Fitch มองว่า หากปราศจากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพที่สามารถดำเนินนโยบายส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจนทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ระดับปานกลางได้นั้น ประเทศไทยจะเสี่ยงกับการถูกทิ้งให้ล้าหลังกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคในด้านการพัฒนาและศักยภาพการเจริญเติบโตของประเทศ โดยแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตอาจลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3 – 3.5 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ต่ำสำหรับเศรษฐกิจที่อยู่ในขั้นกำลังพัฒนา
ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505, 5518