นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีตลาดทุนที่มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้ลงทุนได้เพิ่มมากขึ้นโดยการออกดัชนี FTSE ใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินของทุกตลาดหลักทรัพย์อาเซียนได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นความร่วมมือกันของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงหลักทรัพย์อาเซียนเพื่อผู้ลงทุนรายย่อย และเพื่อนำไปสู่การสร้างสินค้าเพื่อการลงทุน เช่น กองทุน Exchange Traded Fund (ETF) เป็นต้น”
นายโดนัลด์ คีธ (Donald Keith) รองประธานกรรมการบริหาร ฟุตซี่ กรุ๊ป (FTSE) กล่าวว่า “FTSE ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ให้จัดทำดัชนีใหม่สำหรับตลาดหลักทรัพย์อาเซียน โดยการจัดทำดัชนีใหม่นี้อยู่ภายใต้วิธีการและมาตรฐานสากลของ FTSE ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นที่ยอมรับและสร้างความน่าสนใจลงทุนแก่ผู้ลงทุนทั้งในระดับภูมิภาคและทั่วโลกมากยิ่งขึ้น”
กลุ่มดัชนี “FTSE ASEAN Index Series” ใหม่นี้ ได้เพิ่มหุ้นที่น่าสนใจในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามเข้ามาด้วย จากเดิมที่มีเพียงหุ้นจาก 5 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไทย มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งจะเพิ่มความโดดเด่นและความโปร่งใสให้กับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรวมหุ้นเด่นของทุกตลาดหลักทรัพย์อาเซียนเอาไว้ด้วยกัน การพัฒนาดัชนีใหม่ๆ ครั้งนี้จะเป็นฐานซึ่งจะนำไปสู่การสร้างดัชนีอ้างอิงที่หลากหลาย ดัชนีหมวดธุรกิจที่สำคัญ และผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงหลักทรัพย์อาเซียน เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนแก่ผู้ลงทุน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์สมาชิก
กลุ่มดัชนี “FTSE ASEAN Index Series” ใหม่ ประกอบด้วย ดัชนี FTSE ASEAN All-Share Index เป็นดัชนีอ้างอิงครอบคลุมหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) 90-95% ของทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ กลุ่มดัชนี “FTSE ASEAN Index Series” ได้พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ภายใต้การผลักดันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์อาเซียนมีความร่วมมือระหว่างกัน โดยใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการออกตราสารทางการเงินใหม่ๆ และเป็นดัชนีอ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบและวิเคราะห์การลงทุน (benchmark index) ซึ่งสะท้อนการเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนโดยรวม
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ดัชนีใหม่ ได้แก่ ดัชนี FTSE ASEAN Stars Index จะเป็นเครื่องมือที่ชี้ให้เห็นถึงสภาพตลาดหลักทรัพย์อาเซียนโดยรวม และดัชนี FTSE ASEAN All Share Ex-Developed Index เป็นดัชนีชี้วัดที่ไม่รวมหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ส่วนดัชนี FTSE/ASEAN 40 Index ที่มีอยู่เดิม ซึ่งสะท้อนผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน จะยังคงรวมอยู่ในกลุ่มดัชนี “FTSE ASEAN Index Series” ใหม่นี้ด้วย
ดัชนี FTSE ASEAN มีการจัดทำด้วยหลักเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีการปรับค่าการกระจายหุ้นแก่ผู้ลงทุนรายย่อย (free float adjusted) และใช้เกณฑ์การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมแบบ ICB (Industry Classification Benchmark) โดยสรุปมีดังนี้
- FTSE ASEAN All-Share Index
เป็นดัชนีแสดงถึงผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ประกอบด้วยหลักทรัพย์ทุกตัวที่อยู่ใน FTSE ASEAN Indonesia All-Share Index, FTSE ASEAN Philippines All-Share Index, FTSE ASEAN Vietnam All-Share Index, FTSE Bursa Malaysia EMAS Index, FTSE SET All-Share Index และ FTSE ST All-Share Index ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
- FTSE ASEAN Sector Indices ซึ่งสะท้อนความเคลื่อนไหวของแต่ละอุตสาหกรรมในภูมิภาค เป็นการนำดัชนี FTSE ASEAN All-Share Index มาคำนวณในระดับอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจหลัก และหมวดธุรกิจย่อย โดยใช้การจัดแบ่งตามมาตรฐานการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสากลแบบ Industry Classification Benchmark (ICB)
- FTSE ASEAN Stars Index ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ที่น่าสนใจที่สุดใน 30 อันดับแรกของหุ้นจากแต่ละประเทศ ยกเว้นประเทศเวียดนามจะเลือกจากตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ 15 บริษัทและตลาดหลักทรัพย์ฮานอย 15 บริษัท รวมเป็น 180 หุ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวตลาดหลักทรัพย์อาเซียน
- FTSE ASEAN All-Share ex Developed Index เป็นดัชนีชี้วัดไม่รวมหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยดัชนีจะมาจากหุ้นใน FTSE Bursa Malaysia EMAS Index, FTSE ASEAN Indonesia All-Share Index, FTSE ASEAN Philippines All-Share Index, FTSE SET All-Share Index and FTSE ASEAN Vietnam All-Share Index
- FTSE/ASEAN 40 Index เป็นดัชนีที่วัดผลประกอบการของ 40 บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน
นับจากการเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่เกาะบาหลี เมื่อเดือนเมษายน 2554 รวมตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดพัฒนาการที่สำคัญต่างๆ ที่แสดงให้ถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันส่งเสริมการเติบโตของตลาดทุนอาเซียน ผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่น่าสนใจได้รับการยอมรับในสายตาผู้ลงทุนทั่วโลก เช่น การพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน (ASEAN Trading Link) การพัฒนาเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน www.aseanexchanges.org ที่เผยแพร่ข้อมูลการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนและข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ASEAN Stars การส่งเสริมหลักทรัพย์ ASEAN Stars การจัดงานโรดโชว์ Invest ASEAN สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ลงทุน และล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา ได้ลงนามแต่งตั้ง ธนาคารดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) เป็นผู้ให้บริการงานบริการรับฝากและเก็บรักษาหลักทรัพย์ รวมทั้งงานส่งมอบหลักทรัพย์สำหรับธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน ASEAN Trading link
ตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 7 แห่ง มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด รวมกันประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่มีพลวัตสูง ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ การเงินและการธนาคาร พลังงาน โทรคมนาคม สินค้าโภคภัณฑ์ ยานยนต์ และภาคการผลิต
ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน
ตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์ 7 แห่ง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ฮานอย และโฮจิมินห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของตลาดทุนอาเซียน ด้วยการส่งเสริมธุรกรรมข้ามตลาด พัฒนาช่องทางการเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์อาเซียนให้สะดวกและง่ายขึ้น ออกผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงหลักทรัพย์อาเซียน และมีเป้าหมายร่วมกันที่จะส่งเสริมการเพิ่มสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์สมาชิก