นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า งาน OTOP MIDYEAR 2014 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2557 ณ ฮอลล์ 1 - 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานีนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดย 6 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้ร่วมกันจัดบูธนิทรรศการภายใต้แนวคิด “Thai Heritage IQS : ต่อยอดภูมิปัญญาไทยสู่สากล” พร้อมกับคัดเลือกผู้ประกอบการโอทอปจำนวน 300 บูธที่ผ่านการพัฒนาโดยหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมการแสดงและจำหน่ายสินค้าในงาน OTOP MIDYEAR 2014 ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการในปี 2557 และการส่งเสริมพัฒนา OTOP ตามแนวคิด IQS แสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่นของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการ OTOP รายอื่นๆ และผู้สนใจทั่วไป ได้ศึกษาและเป็นการทดสอบตลาดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสียงตอบรับของผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้า OTOP รายอื่นๆ กลับไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้น และตรงกับความต้องการของตลาดโดยแท้จริง
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์และสินค้า OTOP ของไทย ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เน้นการรณรงค์และส่งเสริมการพัฒนา OTOP ของไทยในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาสินค้าสร้างคุณภาพและมาตรฐานการผลิตตามความต้องการของตลาด ตามหลัก IQS กล่าวคือ I หมายถึง Innovation คือการผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ต้องมีการผลิตที่มีนวัตกรรม Q หมายถึง Quality คือผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผลิตต้องมีคุณภาพ และ S หมายถึง Standard คือการผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ต้องมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของตลาด และหากผลิตจำนวนมาก มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ OTOP ในทุกชิ้นต้องเท่ากัน
ด้านนางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายในบูธนิทรรศการของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามแนวคิด “Thai Heritage IQS : ต่อยอดภูมิปัญญาไทยสู่สากล” จะแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ โซนที่แสดงเรื่องราวและผลิตภัณฑ์ของโครงการการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (The Development of Industrial Business by Applying Cultural Heritage and Local Wisdom) ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเป็นปีแรก ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย ภาคกลางจะเป็นวัฒนธรรมอยุธยา ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ภาคเหนือจะเป็นวัฒนธรรมล้านนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นวัฒนธรรมบ้านเชียง วัฒนธรรมศรีโคตรบูรณ์ – ล้านช้าง วัฒนธรรมทวาราวดีและศรีจนาศะ และภาคใต้จะเป็นวัฒนธรรมศรีวิชัย-ลังกาสุกะและในปีต่อๆ ไปจะมีการขยายผลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมสุโขทัย วัฒนธรรมลพบุรี เป็นต้น และโซนที่เป็นการนำผลิตภัณฑ์ OTOP ที่พัฒนาโดยกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีคุณลักษณะการพัฒนาที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวทั้งด้านนวัตกรรม (Innovation: I) คุณภาพ (Quality: Q) และมาตรฐาน (Standard: S) มาจัดแสดงให้ผู้ประกอบการ OTOP และผู้สนใจได้ชมและศึกษา
รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานของกระทรวงอุตสาหกรรมภายในงาน OTOP MIDYEAR 2014 ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้ประกอบการ OTOP ทั้งในด้านการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ต้นทุนการผลิตต่ำ การออกแบบตรงกับความต้องการของตลาด คุณภาพได้มาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงาน รวมถึงคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ที่ร่วมกันงานจนประสบความสำเร็จทำให้การสินค้า OTOP ของไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่านในที่สนใจศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ตามหลัก IQS สามารถไปชมนทิรรศการของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ ภายใต้แนวคิด “Thai Heritage IQS : ต่อยอดภูมิปัญญาไทยสู่สากล”ภายในงาน OTOP MIDYEAR 2014 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม – วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2557 ณ ฮอลล์ 1 - 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี