นายประจิตต์ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับชุมชนรอบข้างอย่างมีความสุข พร้อม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน จึงทำการค้นหาศักยภาพที่โดดเด่นของชุมชนที่อยู่รอบข้างบริษัท รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน และพบว่า ชุมชนบ้านดอนวัว ต.ลาดบัวขาว ที่อยู่ใกล้เคียงกับฟาร์มสีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีการนำพื้นที่ว่างเปล่าและเป็นที่ดินสาธารณะ ประมาณ 14 ไร่ มาจัดเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” โดยแบ่งพื้นที่ให้กับชาวชุมชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและมีรายได้น้อยเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการเกษตรเพื่อสร้างรายได้เสริม จากการลงพื้นที่เพื่อสานเสวนากับชาวชุมชน ทำให้เห็นแนวทางในการสนับสนุนให้กิจกรรมเกิดความยั่งยืนได้ ซีพีเอฟจึงสร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ดไข่พร้อมมอบพันธุ์เป็ดไข่ และขุดบ่อเลี้ยงปลาพร้อมพันธุ์ปลา สนับสนุนปุ๋ยชีวภาพสำหรับพืช ตลอดจนปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์และระบบไฟฟ้า
“ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น เป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนบ้านดอนวัวกับชาวซีพีเอฟจิตอาสา ทั้งจากสายฟาร์ม โรงฟักไข่ กิจการฟาร์มวิจัยและทดลอง สำนักวิศวกรรม สำนักระบบมาตรฐาน ที่เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวให้ลุล่วงและมีความต่อเนื่อง” นายประจิตต์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังมีเป้าหมายในการผลักดันบุคลากรร่วมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ จึงเปิด “ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมและความยั่งยืน” ขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ของสายธุรกิจไก่-เป็ด ซีพีเอฟ เพื่อสนับสนุนให้ชาวซีพีเอฟร่วมสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ที่จะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต และช่วยลดต้นทุน นำไปสู่ผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคต่อไป