กลุ่ม ปตท. - องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมลงนาม MOU โครงการลดก๊าซเรือน กระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)

ศุกร์ ๐๖ มิถุนายน ๒๐๑๔ ๑๕:๑๘
ในวันนี้ (6 มิถุนายน 2557) กลุ่ม ปตท. โดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด และ นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรม องค์ความรู้ในการตรวจวัด และการรับรองคาร์บอนเครดิต จาก อบก. มากำหนดเป็นแนวทางภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน

ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ปตท.และ อบก. ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาจาก อบก. ในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของประเทศไทย กับกลุ่ม ปตท. ในขณะที่ ปตท.ยังคงเดินหน้าดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่า ทั้งการติดตามและตรวจวัดปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ระบุไว้ในระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับโครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน

นางประเสริฐสุข กล่าวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทำให้นานาประเทศได้ให้ความสนใจและตระหนักในการที่จะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเกิดเป็นข้อตกลงพหุภาคีภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) รวมทั้งข้อผูกพันตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งกำหนดให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง (Common but Differentiated Responsibilities) โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ถึงแม้ว่า ในช่วงเริ่มแรกจะยังไม่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวสามารถมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บนพื้นฐานของความสมัครใจภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง โดยที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับประโยชน์จากการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต (Certified Emission Reductions: CERs) รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย

จากประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่ผ่านมาของประเทศไทย พบว่า มีอุปสรรคหลายประการ เช่น ต้นทุนทางธุรกรรมสูง กฎระเบียบในการดำเนินการที่เคร่งครัด ความเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารข้อเสนอโครงการ และการทวนสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึง ความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนโครงการและการรับรองคาร์บอนเครดิต เป็นต้น อีกทั้ง สถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคทางการหลังสิ้นสุดพันธกรณีที่ 1 ภายใต้พิธีสารเกียวโต ในปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ได้ประสบปัญหาเรื่องราคาคาร์บอนเครดิต (CERs) ที่มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการชะลอ หรือยกเลิกการพัฒนาโครงการ CDM ทั้งจากผู้ที่ได้พัฒนาโครงการไปแล้ว และจากผู้ที่กำลังพัฒนาโครงการรายใหม่

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จึงได้พัฒนามาตรฐานการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งได้พัฒนาตามแนวทางมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้ง ลดความยุ่งยากซับซ้อนของขั้นตอนการดำเนินโครงการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิต ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ T-VER นี้ ซึ่งเรียกว่า “TVERs” ไปจำหน่ายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ โดยโครงการที่สามารถเข้าร่วมจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มโครงการภาคการผลิตและใช้พลังงาน อุตสาหกรรม การจัดการของเสีย และการขนส่ง และกลุ่มโครงการด้านป่าไม้และการเกษตร โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ T-VER นอกจากจะเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคาร์บอนเครดิต (TVERs) ที่เกิดจากกิจกรรมของโครงการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้แล้ว การดำเนินโครงการ T-VER ดังกล่าว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกับสังคม และชุมชน เช่น ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น การสร้างงานในท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ อบก.ได้จัดทำข้อกำหนดต่างๆ ในการสมัครขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการประกาศบุคคลที่ผ่านคุณสมบัติและให้การรับรองในการเป็น Third Party เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้การรับรองเอกสารขึ้นทะเบียนโครงการ ตลอดจนตรวจประเมินโครงการ

สำหรับ กลุ่ม ปตท. เป็นหน่วยงานที่แสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยความในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือร่วมกับกลุ่ม ปตท.ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) นี้ อบก.จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจในหลักการสำหรับการพัฒนาโครงการฯ กับ กลุ่ม ปตท.การอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาเอกสารประกอบโครงการ แนวทางในการดำเนินโครงการและการติดตามประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมโครงการ

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงการส่งเสริมสนับสนุนในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ในภาคป่าไม้ให้กับประเทศ นั้น ปตท.ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 โดยเข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 เพื่อน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระราชสักการะ โดยอาสาปลูกป่า 1 ล้านไร่ และได้มีพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิจัยผลสัมฤทธิ์ของโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ ในช่วงปี 2537 – 2551 พบว่า

- ป่าดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 18.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

- ปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศ 14.5 ล้านตันออกซิเจน

- ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากป่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,050 ล้านบาท

- มูลค่าป่าในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 6,052 ล้านบาท

- มีฐานมวลชนปกป้องดูแลผืนป่าในโครงการปลูกป่าฯ

- ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตมวลชนที่อยู่รอบแปลงปลูกป่า

- ผืนป่าเสื่อมโทรมกลับเข้าสู่ระบบนิเวศเดิม

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการปลูกป่าและจัดทำโครงการเสริมต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ได้ขยายพื้นที่ในการปลูกป่า ซึ่งนอกจากปลูกในพื้นที่ของรัฐแล้ว ยังปลูกป่าในพื้นที่เอกชน และ พื้นที่ของ กลุ่ม ปตท. เอง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เช่น โครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ “ สวนป่าระยองวนารมย์” จังหวัดระยอง โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด เป็นต้น

กลุ่ม ปตท. ในฐานะบริษัทที่ดำเนินภารกิจด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ครบวงจร ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท.ตระหนักและให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้ดำเนินงานผ่าน 3 มิติหลัก คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Product) การบริหารจัดการกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Process) การสร้างความตระหนักในการรักษ์สิ่งแวดล้อม (Public Awareness)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม