นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า อพท.ได้มอบนโยบายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี การจัดงานประเพณีประจำปีหอเจ้านายนี้ ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามของชาวบ้าน ๔ หมู่บ้านคือ บ้านโคก บ้านหนองตาสาม บ้านหนองเสือและบ้านท่าม้า สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาวครั่ง” ที่อพยพมาจากแถบ “ภูคัง”(เทือกเขาแถบหลวงพระบาง) ในสปป.ลาว ซึ่งเดิมถูกเรียกว่า “ลาวภูคัง” ก่อนที่จะเพี้ยนเป็น “ลาวครั่ง” ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีระบบความเชื่อที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวบ้านโคกมีความเชื่อความศรัทธาทั้งในทางพระพุทธศาสนาและในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติหรือที่เรียกกันว่า “ผี” ซึ่ง อพท. ได้บรรจุงานประเพณีนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิทินการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองและจะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปีในเดือนมิถุนายน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานร่วมกันเป็นปีแรก
นางอำพร ลีสุขสาม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ บ้านโคก ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ผีที่ชาวบ้านโคกนับถือมี ๒ แบบ คือ ผีเทวดาและผีเจ้านาย ผีเทวดาคือ รุกขเทวดาที่เคยคุ้มครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยอยู่หลวงพระบาง ส่วนผีเจ้านายตามความเชื่อของชาวบ้านโคกนั้น คือผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าเป็น “ผีดี” ที่มาคอยช่วยปกปักรักษาหมู่บ้านและชาวบ้าน โดยผีเจ้านายมีที่สถิตอยู่ที่ “หอเจ้านาย” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำหมู่บ้าน เปรียบดังหลักเมือง ศูนย์รวมจิตใจและที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้านโคก สมัยก่อนพอถึงฤดูทำไร่นา ชาวบ้านก็จะมาขอผีเจ้านายให้ทำการเพาะปลูกได้ดี ลูกหลานใครเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อ-แม่ก็จะมาขอให้ผีเจ้านายช่วยรักษาพร้อมบนบานศาลกล่าว ไม่เพียงเท่านั้นหอเจ้านายบ้านโคกยังมีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นดังสิ่งคุมความประพฤติ สิ่งกำกับการกระทำและจิตใจของคนในหมู่บ้านให้ทำแต่ความดี ใครที่ทำไม่ดี ผิดจารีต ผิดวิถี หรือที่เรียกว่า “ผิดผี” ต้องมาสารภาพต่อเจ้าพ่อพร้อมแก้บนขอขมา ทั้งนี้ ทุกปีที่บ้านโคกจะมีการจัดงานเลี้ยงผีขึ้นในช่วงราวเดือน ๗ ไทย(ราวเดือนมิถุนายน) มีการจัดงาน ๒ วัน คือ วันสุกดิบและวันงานจริง โดยพ่อกวนจะเป็นผู้กำหนดวันเวลาที่แน่นอนในช่วงใกล้ก่อนวันงาน ทั้งนี้ วิถีชีวิตของชาวบ้านโคกที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การขี่จักรยานโบราณเป็นพาหนะคู่ใจ และยังขี่จักรยานร่วมขบวนแห่ชักธงสงกรานต์ ๔ หมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบัน อพท.ได้เข้ามาส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญโดยดึงเอาจักรยานโบราณและพิธีไหว้ผีหอเจ้านายและเรือนไม้โบราณดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว