นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานธุรกิจการเงินและการธนาคาร บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึง ผลสำรวจ Banking Banana Skins 2014 ที่ทาง PwC ร่วมกับ The Centre for the Study of Financial Innovation (CSFI) จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยทำการสำรวจความคิดเห็นนายธนาคาร ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน และผู้ที่อยู่ในแวดวงภาคธุรกิจธนาคารจำนวน 656 รายใน 59 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ว่า การออกกฎระเบียบที่มากเกินไป (Overregulation) และการแทรกแซงทางการเมือง (Political interference) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการประกอบธุรกิจธนาคารมากที่สุดในปีนี้ จากจำนวนความเสี่ยงทั้งหมด 28 ประเภทที่ทำการสำรวจ
“การออกกฏระเบียบข้อบังคับที่มากเกินไป กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่ออุตสาหกรรมแบงก์ที่รุนแรงที่สุดในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ เพราะสร้างภาระให้แบงก์เป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ต้องแบกรับผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงาน และความยุ่งยากซับซ้อนในการต้องปฏิบัติตาม (Compliance) เท่านั้น แต่ยังรวมถึง ความสามารถในการทำกำไร และโอกาสการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆที่ลดลง เพราะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น” นาย บุญเลิศ กล่าว
นอกจากนี้ การแทรกแซงทางการเมือง สืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการของรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพ เปลี่ยนแปลง หรือจัดระเบียบระบบสถาบันการเงิน อาจสร้างข้อจำกัดในการดำเนินงานให้แก่แบงก์ และทำให้ตลาดเกิดการบิดเบือนอย่างไม่ตั้งใจอีกด้วย
ทั้งนี้ การแทรกแซงทางการเมืองมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับโครงสร้างระบบธนาคาร เช่น การล้อมรั้วกิจกรรมทางการเงินที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ (Ring-Fencing) โดยแยกกิจกรรมของสถาบันการเงิน ที่การบริการมีความจำเป็นชนิดที่เศรษฐกิจและประชาชนทั่วไปจะขาดเสียมิได้ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของทางการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะไม่ต้องใช้เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น โดยทางภาครัฐจะกำกับดูแลสถาบันการเงินในส่วนที่อยู่ใน Ring-Fencing อย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้มีความเสียหายเกิดขึ้น ทำให้ธนาคารขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงในรูปแบบอื่น เช่น การบังคับภาษีภาคธนาคาร การตั้งเกณฑ์ด้านฐานทุนและสภาพคล่อง การแทรกแซงการตั้งราคา และการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงจากการประพฤติมิชอบ (Malpractice) ซึ่งเป็นความกังวลนี้พบมากในกลุ่มผู้ถูกสำรวจแถบยุโรป ที่มีการออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากทั้งในระดับสหภาพยุโรป และระดับประเทศหลังเผชิญกับภาวะวิกฤติหนี้ในช่วงก่อนหน้านี้
นายบุญเลิศ กล่าวต่อว่า แม้ภาคธุรกิจธนาคารจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในปีนี้ แต่ผลสำรวจระบุว่า แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมแบงก์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยความกังวลต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเริ่มลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มการประกอบธุรกิจของภาคธนาคารและสถาบันการเงินเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความมั่นใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเริ่มสดใสขึ้น ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของเงินทุน สภาพคล่อง คุณภาพสินเชื่อและผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ เริ่มลดลง แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเจริญเติบโตในระยะยาว รวมถึงผลกระทบของการลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Tapering of quantitative easing) ของธนาคารกลางสหรัฐที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก
เอเชียแปซิฟิกชูภาวะเศรษฐกิจความเสี่ยงอันดับ 1 ของแบงก์
นายบุญเลิศกล่าวว่า ผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงของภาคธนาคารในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกนั้นมีความแตกต่างกันออกไป เมื่อมองปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมแบงก์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลับแตกต่างกับฝั่งตะวันตก โดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ฯลฯ ต่างเห็นตรงกันว่า ปัจจัยเสี่ยงของธนาคารในภูมิภาคนี้คือ สภาวะเศรษฐกิจมหภาค (Macro-economic environment) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลาง รวมถึง การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น-ลงอย่างหวือหวา นอกจากนี้ เอเชียแปซิฟิกยังถือเป็นภูมิภาคเดียวที่ปัญหาการรักษาและดึงดูดทรัพยากรบุคคลหรือทาเลนต์เป็น 1 ใน 10 ปัจจัยเสี่ยงที่ภาคธนาคารกังวลมากที่สุด
“ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของแบงก์ในเอเชียแปซิฟิกของภาคธุรกิจธนาคารในปีนี้ (และอันดับ 3 ของโลก) คือ การฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน การก่อหนี้ที่เกินตัวของภาครัฐและเอกชนในบางประเทศ และปัญหาหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวมากที่สุด” นาย บุญเลิศกล่าว
อย่างไรก็ดี ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technology risk) ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 18 เมื่อปี 2555 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ในปีนี้ สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางการเงินผ่านระบบเครือข่ายโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ หรือ ไซเบอร์คราม ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งของภาคธุรกิจธนาคารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึง ความเสี่ยงจากการใช้ระบบงานหลังบ้าน (Back office system) ที่ล้าสมัย ไม่ได้รับการปรับปรุง หรือลงทุนเพิ่ม และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputational risk) จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมออนไลน์ (Social media)
เศรษฐกิจ–การเมือง ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจแบงก์ของไทย
เมื่อมองปัจจัยเสี่ยงของภาคธุรกิจธนาคารของไทยนั้น นายบุญเลิศกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและความไม่สงบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาคธุรกิจธนาคารในประเทศ สังเกตได้จากผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงมา
นายบุญเลิศกล่าวทิ้งท้ายว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กำหนดทิศทางของการดำเนินธุรกิจธนาคารต่อไป แต่ประเมินว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยรวมในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่มองไม่เห็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต เนื่องจากปัจจุบันแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความชัดเจน ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้า ขณะที่ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่สิ่งที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือคุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคาร เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก เริ่มส่งสัญญาณการปรับตัวลดลง