เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ( EMS) ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลนครพนม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 12 แห่ง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดนครพนมที่สนามกีฬากลางจังหวัดนครพนม พร้อมทั้งจัดให้มีพิธีมอบรถปฏิบัติการฉุกเฉินและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตฉุกเฉิน โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมจำนวนทั้งสิ้น 15 คัน ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเข้าร่วมเป็นประธานในพิธีด้วย
นพ. พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครกล่าวว่า การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการร่วมพัฒนาและยกระดับระบบ EMS ของจังหวัดนครพนม โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่ ภายใต้โครงการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อประชาชน( Emergency Medical Service To The Public) ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด นครพนม ได้สนับสนุน รถปฏิบัติการฉุกเฉิน จำนวน 15 คัน และองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นผู้จัดหาบุคลากรกู้ชีพเพื่อปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งกู้ชีพทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะผ่านการอบรมหลักสูตรอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ (FR ) 40 ชั่วโมง ภายใต้การสนับสนุนวิทยากรจากโรงพยาบาลนครพนม ตนเชื่อว่าผลจากการดำเนินโครงการจะสามารถทำให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้าถึงบริการ EMS ผ่านทางสายด่วน 1669 ได้อย่างมั่นใจ มีคุณภาพและรวดเร็ว
ขณะที่นายสมชอบ นิติพจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมกล่าวว่า จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินในปีที่ผ่านมาของจังหวัดนครพนมมีมากถึง 2 หมื่นครั้งและในปีนี้ก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 หมื่นครั้ง จนส่งผลให้รถที่ใช้ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เพียงพอต่อการรับบริการของประชาชน เราจึงได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการบริการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นโดยทำบันทึกความร่วมมือสนับสนุนรถฉุกเฉิน ให้เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลและโรงพยาบาลนครพนม จำนวน 12 คัน และมอบให้ประจำศูนย์ปฏิบัติการกู้ชีพขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมเพื่อประชาชนอีก 3 คัน รวมทั้งหมดเป็น 15 คัน ซึ่งความคาดหวังในโครงการนี้คือการนำส่งประชาชนในกรณีบาดเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ถึงมือแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและจะเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนจากการบาดเจ็บป่วยฉุกเฉินในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในแต่ละท้องถิ่นจะมีปัญหาด้านการแพทย์ฉุกเฉินแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ภัยพิบัติ หรือสาธารณภัย การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องพัฒนาให้ครอบคลุม มีคุณภาพและทั่วถึงประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดนครพนมครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่งเพราะช่วยให้อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการป่วยฉุกเฉินของประชาชนในพื้นที่ลดลงได้ นอกจากนี้แล้วยังจะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นที่หลากหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดการและพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ของตนเองได้อีกด้วย