นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป.กล่าวถึงความสำเร็จในการจัดงานฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 7 ที่ผ่านมา ณ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า ได้รับความสนใจและการตอบรับจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ศ.ศ.ป. เน้นการสร้างเรื่องราวบนผ้าฝ้ายด้วยการออกแบบลวดลาย และการตัดเย็บโดยดีไซเนอร์ชั้นนำ มีดารานางแบบชื่อดังอย่าง คุณคาร่า พลสิทธิ์ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ มาช่วยสร้างสีสันและความน่าสนใจให้กับผ้าฝ้ายได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจ ร้านค้าเข้าร่วมแสดงกว่า 100 คูหา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้าน ของที่ระลึก และของใช้อื่นๆ เช่น สมุดโน้ต รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสมัยที่กระแสสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสของโลก แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่งานฝ้ายทอใจก็ยังได้รับความสนใจจากประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมงานอย่างคึกคักกว่า 7,000 คน และมียอดขายมากกว่า 8 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาวะตลาดของการส่งออกผ้าฝ้ายทอมือในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระหว่างมกราคม-เมษายน 57 มีมูลค่าลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงเล็กน้อย ด้วยปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของผ้าฝ้ายทอมือไทย แต่คาดว่าโดยรวมจะยังคงเป้าหมายการส่งออกตลอดปี 57 ไว้ได้คือ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3% การส่งออกผ้าฝ้ายทอมือในปัจจุบันถือว่ามีปริมาณน้อยมาก เพียง 10% หากเทียบกับผ้าทออุตสาหกรรม แต่จะมีมูลค่าตลาดในประเทศสูงกว่า โดยตลาดในประเทศกลุ่มใหญ่ยังเป็นกลุ่มเครื่องนอน ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากมีการใช้ในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในกลุ่มสินค้าที่ระลึกเพิ่มมากขึ้น แม้ปริมาณการใช้ไม่มากเนื่องจากเป็นการนำไปประกอบ แต่ก็ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค นอกจากรูปแบบการนำไปใช้ เรายังเน้นสื่อสารเกี่ยวกับกระแสรักษาสิ่งแวดล้อมไปยังผู้บริโภค และเห็นว่าผ้าฝ้ายไทยได้เปรียบในการทำให้เป็น Green Craft เนื่องจากแหล่งปลูกฝ้ายของไทยหลายแห่งไม่ได้ใช้สารเคมี รวมถึงการฟอกย้อมก็เช่นกัน ศ.ศ.ป. ได้ทำโครงการพิเศษโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทอ การย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติ การสร้างรูปแบบหรือรูปทรงต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดญี่ปุ่น อันเป็นตลาดสำคัญอีกแห่งของการส่งออกผ้าทอมือซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ผ้าฝ้ายนั่นเอง โดยได้นำ Green Craft ไปร่วมในโครงการ Tokyo Life Style ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อเนื่องเป็นปีที่สองแล้วโดยได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี
“เรามีผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ส่งออกโดยจำแนกออกเป็นกลุ่มสินค้า คือ 1.ผ้าทอมือ 2. เครื่องเงิน-เครื่องทอง 3. ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และ 4. เซรามิก โดยมีมูลค่าส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2554-2556) คิดเป็นมูลค่า 831 ล้านเหรียญสหรัฐ และในไตรมาสแรกของปี 2557 (ม.ค.-มี.ค.) มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 216.39 เหรียญสหรัฐ มีอัตราส่วนการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับ (ม.ค.-มี.ค. 2556) มีสินค้าที่ส่งออกมากสูงสุด คือ เครื่องเงิน-ทอง 109.74 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. ผ้าทอมือ 65.29 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม 35.52 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 4 เซรามิก 5.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีตลาดที่สำคัญของไทย 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมันนี ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์” นางพิมพาพรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการเปิดตลาดใหม่สำหรับการส่งออกจะเน้นไปยังภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ศ.ศ.ป. ก็ได้ร่วมกับพันธมิตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เพราะงานหัตถกรรมแต่ละประเทศล้วนมีความถนัดที่แตกต่าง แต่เรามองว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่งจากการได้ร่วมประชุม ASEAN Craft Symposium แล้ว ทุกประเทศต่างมีทิศทางเดียวกันคือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากข้าวหรือเกี่ยวข้องกับข้าว เพราะประเทศในอาเซียนต่างบริโภคข้าวเป็นหลัก หลังการประชุมนี้ ศ.ศ.ป. ก็ได้ทำโครงการ ‘ASEAN Craft Trend แนวโน้มงานหัตถกรรมในประเทศอาเซียน’ ซึ่งจะมีการจัด ASEAN Trend Talk มีแคตตาล็อคของ ASEAN Trend ออกมาในปีหน้า มีการแลกเปลี่ยนครูช่าง ครูศิลป์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เป็นต้น ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างโอกาสให้เกิดลู่ทางหรือตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อไป