สถาบันอนาคตไทยศึกษาเสนอ 3 ข้อเสนอในการเดินหน้า คือทำน้อยเท่าที่จำเป็น ทำจริง ให้เกิดผลจริง และทำให้ยั่งยืน

อังคาร ๒๔ มิถุนายน ๒๐๑๔ ๐๙:๔๐
สถาบันอนาคตไทยศึกษาเสนอ 3 ข้อเสนอในการเดินหน้า คือทำน้อยเท่าที่จำเป็น ทำจริง ให้เกิดผลจริง และทำให้ยั่งยืน

สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดเผยรายงานล่าสุดเรื่อง “3 ข้อเสนอในการเดินหน้า” โดยเสนอว่า หนึ่ง ทำน้อยเท่าที่จำเป็น ได้แก่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยตรง สอง ทำจริง และให้เกิดผลจริง จึงต้องปรับปรุงกระบวนการการใช้ KPI ให้เน้นการวัดผลลัพธ์ มีน้อยตัว ระบุชื่อผู้รับผิดชอบ และมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณ สาม ทำให้ยั่งยืน โดยการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส การปฏิรูปถูกยกเลิกได้เสมอ ถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่ข้อมูลใดๆ ที่มีการเปิดเผยแล้วจะไม่ถูกปิดได้ง่ายนัก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ตาม

ณ เวลานี้ หลายฝ่ายต่างออกมาพูด ออกมาเรียกร้องถึงข้อเสนอที่ควรต้องทำมากมาย ทั้งเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเรื่องปฏิรูป ซึ่งสถานการณ์ไม่ต่างจากช่วงที่มีกระแสปฏิรูปที่มีการยื่นข้อเสนอมากมายจากหลายฝ่าย ทั้งจากฝ่ายราชการ และเอกชน เช่น กระทรวงการคลังเสนอ 13 มาตรการปฏิรูปภาษี 7 องค์กรเอกชนเสนอ 7 มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ บวกกับอีก 8 ข้อเสนอองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และยังมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำทางอากาศ ยังไม่รวมข้อเสนอเกี่ยวกับปฏิรูปที่สมัชชาปฏิรูปเคยเสนอ 21 มติการปฏิรูป ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ 24 เรื่อง 94 ข้อเสนอ

ซึ่งต้องเลือกให้ดีว่าจะทำอะไรและจัดลำดับว่าอะไรควรทำก่อนหรือทำทีหลัง ด้วย 2 เหตุผลด้วยกัน

หนึ่งคือภาครัฐเองมีความสามารถในการจัดการที่จำกัด เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าอายุของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยยืนยาวนัก แถมรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ถูกเปลี่ยนบ่อยครั้ง ในระดับปฏิบัติการก็มีข้อจำกัดอีกมากมาย เห็นได้จากหลายโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น mega project มูลค่า 1.6 ล้านล้าน ที่ถูกเสนอเป็นแผนสำหรับปี 2548-2555 ซึ่งยังไม่ทันได้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ได้ถูกสานต่อ หรือ โครงการไทยเข้มแข็งมูลค่าร่วม 1.43 ล้านล้านบาท (SP2) จนถึงปัจจุบันก็ไม่สามารถทำจนเสร็จสิ้น

สองคือ “ช่วงเวลาฮันนีมูน” (Honeymoon Period) นั้นมีไม่นาน และความชอบธรรมและคะแนนนิยมที่มีจำกัดอยู่เสมอ ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่แล้วจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เพื่อแลกกับเงินกู้ที่จะนำมาแก้ไขวิกฤติ เราต้องเซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดย IMF ได้ระบุเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจลงใน LOI ด้วย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งทำในช่วงนั้นเพราะไม่ได้เป็นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตในปี 2540 ประกอบกับเป็นช่วงวิกฤติที่อารมณ์ความรู้สึกของคนค่อนข้างอ่อนไหวอยู่แล้ว พอผสมกับกระแสเรื่องขายชาติจึงทำให้เกิดการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และลามมาจนถึงการต่อต้านมาตรการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่จะช่วยแก้วิกฤติ และเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบายต่างๆ ดังนั้น การสร้างโมเมนตั้มที่ดีจะช่วยลดกระแสต่อต้าน และช่วยสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นได้

ดังนั้น เราจึงขอเสนอว่าเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องทำ 3 สิ่งคือ ทำน้อย ทำจริง และทำให้ยั่งยืน

1. ทำน้อยเท่าที่จำเป็น ซึ่งได้แก่เรื่องที่จะะตอบโจทย์ที่เป็นสาเหตุหรือผลของความขัดแย้ง คือเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ คอร์รัปชั่น และความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และที่สำคัญ คือต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังควรคิดในแง่ของระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการว่าอะไรสามารถจัดการได้ในระยะสั้น หรืออะไรที่เป็นเรื่องระยะยาว ด้วยวิธีนี้จะทำให้แบ่งเรื่องที่ต้องทำออกเป็น 4 หัวข้อ คือ สิ่งที่ควรทำตอนนี้ (Do Now) คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และจัดการได้ในระยะสั้น เช่น การเร่งรัดโครงการที่หยุดชะงัก และฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุน/นักท่องเที่ยว และสิ่งที่ต้องทำต่อ (Do Next) คือการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เช่น ระบบสวัสดิการสังคม การดำเนินคดีคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการโดยไม่เลือกปฏิบัติ ที่เหลือคือสิ่งที่ควรทำเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย (Do Maybe) ที่สามารถจัดการได้ในระยะสั้น แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และสิ่งที่เป็นเรื่องระยะยาว (Do Later) ที่อาจจะไม่โยงกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง เช่น ปฏิรูปการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น (ดูตารางที่ 1)

2. ต้องทำจริง สิ่งที่จะทำให้เกิดผลจริง คือการปรับปรุงกระบวนการทำงานต่างๆ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่สำคัญ คือการทำให้ KPI ที่ใช้ในภาครัฐนั้น “ศักดิ์สิทธิ์” จริงๆ ไม่ใช่ “สักแต่ว่าทำ” ซึ่งควรปรับปรุงกระบวนการด้าน KPI ใน 4 เรื่องได้แก่ 1. KPI ต้องวัดที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ 2. ต้องมี KPI น้อยๆ กระทรวงละไม่เกิน 5 ตัวชี้วัด 3. ต้องระบุผู้รับผิดชอบเป็นรายบุคคลไม่ใช่เพียงหน่วยงาน และ 4. ต้องใช้ผลประเมินจาก KPI ไปใช้จัดสรรงบประมาณ ถ้ากระบวนการ KPI ขาดประสิทธิภาพแล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเราได้อะไรกลับมา จากงบประมาณที่แต่ละกระทรวงในแต่ละปี

3. ต้องทำให้ยั่งยืน การปฏิรูปถูกยกเลิกได้เสมอ ถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่การเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส ลดโอกาสในการคอร์รัปชั่น และยังทำให้เกิดความยั่งยืนเพราะข้อมูลใดๆ ที่มีการเปิดเผยแล้วจะไม่ถูกปิดได้ง่ายๆ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ตาม ควรมีการเปิดเผยข้อมูล ด้วย 2 วิธีด้วยกัน หนึ่งคือการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานรัฐ โดยแก้ไขพรบ.ข้อมูลข่าวสารให้เปิดเผยข้อมูลอย่างไม่มีเงื่อนไข สองคือใช้ 2% ของงบประมาณโครงการขนาดใหญ่เพื่อจัดทำฐานข้อมูลโครงการ และนำไปใช้ในการติดตามประเมินผล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม
๑๖:๒๖ SiteMinder เผย โรงแรมไทยเติบโต ก้าวเป็นผู้นำตลาด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ
๑๗:๕๙ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ
๑๖:๐๐ fintips by ttb เผยเคล็ดลับ รถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเราที่สุด
๑๖:๐๐ มาแล้ว! เปิดตัว Samsung Galaxy S25 ซีรีส์ใหม่ล่าสุด มาพร้อม Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย ตอบโจทย์รู้ใจทุกความต้องการเฉพาะคน
๑๖:๐๐ กทม. เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบเกษตรกร-แปรรูปสร้างรายได้
๑๖:๐๐ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนยิ่งใหญ่ Chinese Market 2025 ช้อปสินค้ามงคล เสริมดวงโชคดีมั่งมี
๑๖:๐๐ SNPS ต้อนรับ คณะผู้บริหารและนักวิจัยสภากาชาดไทย
๑๕:๒๔ BEST Supply Chain ยกระดับจัดการคลังสินค้ายุคใหม่ ชู BEST Fulfillment เพิ่มประสิทธิภาพจัดการสินค้า จบครบในที่เดียว
๑๕:๐๐ เด็กซ์ซอนผนึกกำลังภาคีเครือข่าย TCCA ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero