บทความ โดย ดร.สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล
บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด
จากการที่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศโรดแมปการบริหารประเทศไทย ในช่วงปี 2557 - 2558 ครอบคลุมเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยการดำเนินงานตามโรดแมปแบ่งเป็น 3 ระยะ สำหรับระยะที่ 1 (มิ.ย. - ก.ย. 2557) คือ การแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง จัดการเรื่องเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ และเตรียมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในระยะที่ 2 (ต.ค. 2557 – ก.ย. 2558) จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลมาบริหารประเทศ ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อจัดทำกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่สำคัญอื่นๆ รวมถึงการจัดตั้งสภาปฏิรูปเพื่อเสนอนโยบายการปฏิรูปประเทศไทย และระยะที่ 3 (ต.ค. 2558 เป็นต้นไป) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และมีรัฐบาลใหม่เพื่อบริหารประเทศ
ดีลอยท์ มีความเห็นว่า โรดแมปเศรษฐกิจของ คสช. ช่วยเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนกลับคืนมา กระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ได้ปรับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2557 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 3.0
ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การจ่ายเงินจำนำข้าวที่ค้างชำระแก่ชาวนา 8 แสนราย เป็นเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท การเร่งอนุมัติโครงการที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ไปอีก 1 ปี การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท การตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) โดยมาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นไป และหากภาวะเศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.7 ตามการพยากรณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การส่งออกของประเทศไทยน่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 5 ตามการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2557 ในภาพรวม แย่ลงจากปี 2256 โดยสาเหตุหลักมาจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนที่มีต่อวิกฤติการเมือง หลังจากที่ คสช. ทำหน้าที่บริหารประเทศตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นหลายด้าน โดย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานว่า ความต้องการขอสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 52.2 (ค่าดัชนีมากกว่า 50 หมายถึง ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น) นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นและยืนในระดับที่สูงกว่า 1,400 จุด จนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ว่า การดำเนินการตามโรดแมปของ คสช. จะช่วยส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนและดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ระยะเวลาฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่สำคัญของไทยจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยและบทวิเคราะห์ของสถาบันการเงิน ธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้มาตรการเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจร้านค้าปลีกต่างๆ สำหรับกลุ่มธุรกิจคาดว่าจะฟื้นตัวในระยะต่อมา ซึ่งเป็นผลมาจากระดับความเชื่อมั่นของใช้ผู้บริโภคและนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และการนำเที่ยว กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวในลำดับท้าย คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายและนโยบายการลงทุนของภาครัฐและธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุนระยะยาว อาทิ วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การผลิตพลังงานทดแทน
สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่น่าจับตามอง คือ ปัญหาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า การลงทุน การเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ การทบทวนโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เพื่อควบคุมการใช้จ่ายและป้องกันการทุจริต อาจส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐเกิดความล่าช้า สำหรับภาคการเกษตร คาดว่าจะเผชิญความเสี่ยงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาดโลก และผลกระทบจากการยกเลิกนโยบายประชานิยม
กล่าวโดยสรุป โรดแมปเศรษฐกิจของ คสช. จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติการเมือง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว ข้อเสนอแนะเพื่อรับมือความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย (1) การมุ่งเน้นการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศกับกลุ่มอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพ (2) การส่งเสริมและฟื้นภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบของเศรษฐกิจไทย (3) กระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณและการลงทุนของภาครัฐให้รวดเร็ว รัดกุม และโปร่งใส และ (4) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก