นับเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับชาวค่ายอาสาพัฒนาเอสซีจีเดินทางไปก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้แก่โรงเรียนปีละ 1 หลัง โดยจะคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไปและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ขาดแคลนอาคารเรียน รวมถึงไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคารเรียน เพื่อไปดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจระหว่างพนักงานเอสซีจี ครอบครัวพนักงาน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยในปีนี้มูลนิธิเอสซีจีได้สร้างอาคารเรียนหลังที่ 33 ให้แก่โรงเรียนบ้านบึงตะกาด จ.ระยอง ซึ่งอาคารเรียนหลังใหม่นี้ เป็นอาคารเรียนชั้นเดียวขนาด 7 เมตร x 36 เมตร จำนวน 4 ห้องเรียน แบบการก่อสร้างถูกต้องตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังคำนึงถึงความปลอดภัย ความแข็งแรงทนทาน และอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างรวม 3,000,000 บาท ตลอดจนได้รับการอนุเคราะห์วัสดุก่อสร้างจากบริษัทในเครือเอสซีจี โดยมุ่งหวังให้อาคารหลังนี้เป็นแหล่งศึกษาเล่าเรียน และพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา เพื่อมอบเป็นของขวัญอันมีค่าให้แก่น้องๆ ได้ใช้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป
วรพล เจนนภา กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวในวันมอบอาคารเรียนว่า “การสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร เป็นการให้ที่คุ้มค่ายิ่ง เพราะการศึกษาคือรากฐาน ที่สำคัญในการพัฒนาคน ในฐานะตัวแทนมูลนิธิเอสซีจี เราเชื่อว่าเด็กทุกคนสมควรได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีที่เรียนที่เอื้อต่อการศึกษาหาความรู้ เพื่อให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นคนคุณภาพในสังคม ที่ผ่านมาชมรมอาสาพัฒนาเอสซีจี ได้สร้างอาคารเรียนไปแล้ว 32 หลัง สถานพยาบาล 2 หลัง และห้องน้ำ 6 หลัง รวมถึงติดตั้งถังเก็บน้ำฝน 2 ถัง โดยส่งมอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ ในปีนี้ชาวค่ายฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อให้อาคารเรียนแห่งนี้เป็นอาคารเรียนแห่งความสุข มีชุดโต๊ะเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบระดับนานาชาติ จากประเทศอเมริกา และสนามเด็กเล่น ซึ่งบริษัทเอสซีจี เคมิคอลล์ และบริษัท ปัน ปัน Playground and Toys ได้มอบให้ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากบริษัท SCIECO SERVICES เข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดเก็บและการทิ้งขยะที่ถูกต้องอีกด้วย”
กว่าจะกลายมาเป็นอาคารเรียนที่พร้อมให้เด็กๆ บ้านบึงตะกาดได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนนั้น ชาวค่ายฯ ครอบครัวพนักงาน ชาวบ้าน และนักศึกษาจาก SCG Model School รวม 548 ชีวิตต้องทำงานท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุสลับกับสายฝนที่โปรยปรายลงมา ด้วยพื้นที่โล่งกว้างกว่า 450 ตารางเมตร เห็นเพียงฝุ่นดินแดงตลบฟุ้ง อาคารเรียนหลังงามค่อยๆ ถูกเนรมิตให้เป็นรูปเป็นร่างด้วยแรงกาย แรงใจ ผสานกับองค์ความรู้เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้ลุล่วงไปภายในระยะเวลาเพียง 9 วัน
เมธา ประภาวกุล ประธานชมรมอาสาพัฒนาเอสซีจี กล่าวอย่างภูมิใจว่า “ค่ายอาสาฯ ปีนี้น่าปลื้มใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นการรวมพลังชาวเอสซีจีทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ไม่จำกัดชายหญิง มีพนักงานรุ่นใหม่เข้าร่วมมากที่สุดหากเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้องผู้หญิงหลายคนไม่เคยจับงานก่อสร้างหรือร่วมค่ายอาสามาก่อน ต่างร่วมแรงแข็งขันทำงาน พี่รุ่นเก่าสอนน้องรุ่นใหม่ เสมือนพี่เลี้ยงคอยชี้แนะน้องๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสี งานฝ้า ยาแนวกระเบื้อง เราทำงานกันเป็นทีม เป็นครอบครัว ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน ก็มาช่วยกันเพื่อให้เด็กๆ ได้มีอาคารเรียนมีห้องน้ำไว้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว งานนี้ไม่ใช่งานง่ายครับ แต่นี่คือ DNA ของพวกเรา ชาวเอสซีจี ใน 1 ปี เราต้องถามตัวเองว่าเราได้ทำประโยชน์อะไรคืนสู่สังคมบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะนึกถึงแต่ตัวเอง ผมเห็นว่าทุกคนที่นี่เหนื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินจากชาวค่ายทุกคนคือโรงเรียนต้องสำเร็จ เราอยากเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ครับ มันคุ้มค่าครับ”
ปวีณ สุสิกขโกศล พนักงานเอสซีจี น้องใหม่หัวใจอาสาที่มาร่วมออกค่ายเป็นปีแรกเปิดเผยประสบการณ์การเป็นผู้ให้ว่า “ผมคิดว่าชีวิตคนทำงานบริษัทอย่างผมใน 1 ปี เราไม่ค่อยมีโอกาสจะได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนอื่นสักเท่าไหร่ แต่ว่าการออกค่ายครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสมอบสิ่งที่ดีให้คนอื่นด้วยหยาดเหงื่อ แรงงานของตนเองถือเป็นเรื่องที่ดี การใช้ชีวิตตลอด 10 วันในค่ายทำให้ผมได้เรียนรู้วิถีชาวบ้านจากคนในชุมชนที่มาช่วยงานช่าง และงานครัว รวมถึงฝึกทักษะงานช่างซึ่งเป็นงานที่ผมไม่เคยทำ เช่น งานโป๊วสีที่มีพี่จากโรงงานมาสอน แนะนำว่าต้องจับตัวเกรียงอย่างไร กดแบบไหนให้งานออกมาเร็ว ง่ายขึ้นและสวยขึ้น ถือเป็นความรู้ใหม่ๆ และประสบการณ์ที่ดี ผมสุขใจมากครับที่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ในวันส่งมอบอาคารเรียน และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันโอกาสให้กับน้องๆ ในถิ่นทุรกันดาร ”
เช่นเดียวกับปวีณา วรรณศิริมงคล สาวน้อยจากเอสซีจี เปเปอร์ ที่มาค่ายอาสาปีนี้เป็นปีแรก เธอเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “พอทราบข่าวว่ามีค่ายอาสา ก็ตัดสินใจว่าจะไปร่วมอย่างไม่ลังเลเลยค่ะ เพราะคิดว่าปีหนึ่งมี 365 วัน การที่เราได้มีโอกาสทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่นบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ แม้ไม่ได้เกิดมารวย แต่เราทุกคนก็สามารถลงแรงกายแรงใจ เพื่อให้น้องๆ มีอาคารเรียนที่เหมาะสม ถึงเราจะเป็นผู้หญิง เราก่อสร้างไม่เป็น แต่เราก็ช่วยทาสี ยาแนวกระเบื้องได้ โดยเฉพาะก่อนวันส่งมอบอาคาร พวกเราทำกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนเลยค่ะ คือไม่มีใครง่วงหรือห่วงนอนเลย เพราะคิดว่าจะนอนเมื่อไรก็นอนได้ เรายังมีเวลานอนอีกเยอะ แต่เราอยากให้โรงเรียนเสร็จทันกำหนด เพราะเรารู้ว่าน้องๆ ฝากความหวังไว้กับเราค่ะ”
ลองมาฟังเสียงจากน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านบึงตะกาดกันบ้าง “หนูมาโรงเรียนทุกวันช่วงก่อสร้าง มาช่วยคุณแม่ทำครัวให้พี่ๆ ได้ทานกัน ต้องบอกว่าดีใจมากค่ะที่ได้อาคารเรียนหลังใหม่ที่ปลอดภัยและน่าเรียน แม้หนูจะเรียนอยู่แค่อีก 1 ปี ก็จะจบออกไป แต่ก็อดรู้สึกดีใจกับน้องๆ รุ่นต่อไปไม่ได้ที่จะได้มีการอาคารเรียนที่ดี โต๊ะเรียนที่สวยงาม และห้องน้ำที่เพียงพอ ต้องขอขอบคุณมูลนิธิ เอสซีจี และพี่ๆ ชาวค่ายฯ ทุกคนที่เห็นความสำคัญเรื่องการศึกษาของเด็กต่างจังหวัดอย่างพวกหนู ขอขอบคุณค่ะ”
เมื่อใดก็ตามที่เอ่ยถึงการพัฒนาประเทศ เราอาจนึกถึงการสร้างคนเก่งเป็นอันดับแรก แท้ที่จริงแล้ว การสร้างคนดีมีจิตสำนึกสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดไม่แพ้กัน องค์กรก็เช่นกันย่อมต้องการพนักงานที่เก่งและฉลาด แต่องค์กรที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนย่อมต้องมีพนักงานที่ดีเป็นแกนหลัก มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่า ‘คน’ คือทรัพยากรที่ล้ำค่า เช่นกัน เด็กและเยาวชนผู้ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ย่อมสมควรได้รับการดูแลบ่มเพาะจากสังคม อาคารเรียนหลังที่ 33 นี้จึงเป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้าง เพราะนั่นหมายถึงพันธกิจของมูลนิธิเอสซีจีในการมุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เราอยากเห็นเด็กๆ เรียนหนังสืออย่างมีความสุข เราอยากให้เด็กๆ แน่ใจว่าพวกเขาไม่ถูกละเลย เพราะไม่ว่าโรงเรียนของเด็กๆ จะไกลเพียงไหน ย่อมไม่ไกลเกินกว่าจิตอาสาของชาวเอสซีจีจะไปถึง