“หลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขทั้งฝ่ายบริหาร พนักงานไม่พิการ และพนักงานพิการ หลักสูตรดังกล่าวส่งเสริมให้พนักงานพิการได้รับโอกาสที่เท่าเทียมเหมือนพนักงานอื่น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้คำนึงถึงความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่พนักงานพิการในองค์กร ความรู้ความเข้าใจของพนักงานไม่พิการ รวมถึงการศักยภาพการทำงานของพนักงานพิการ โดยยึดตามแนวทางของ CEO ของบิ๊กซีที่เน้นว่า เมื่อพนักงานพิการสามารถทำงานได้เต็มความสามารถแล้ว จะเกิดความภูมิใจและรู้สึกมีศักดิ์ศรี อันจะส่งผลบวกต่อทั้งพนักงานเอง ตลอดจนครอบครัวและชุมชน” การอบรมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้น 32 คน เป็นฝ่ายบริหารและผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จากสาขาต่าง ๆ 22 คน และตัวแทนพนักงานพิการ 10 คน ประกอบด้วย พนักงานพิการทางการเคลื่อนไหว 4 คน พนักงานพิการทางการมองเห็น 2 คน และพนักงานพิการทางการได้ยิน 4 คน เพื่อหารือเป็นกลุ่มเล็กและนำเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานพิการของบิ๊กซีทั้งหมดต่อไป
“นับเป็นความมุ่งมั่นของบิ๊กซี ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของคนพิการมานานกว่า 11 ปี โดยเฉพาะสิทธิต่อการมีงานทำ ภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของคนพิการ บิ๊กซีจึงได้ตั้งเป้าที่จะรับพนักงานพิการไว้ที่ 50:1 คือพนักงาน 50 คนจะมีพนักงานพิการ 1 คน ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของที่กฎหมายกำหนดที่ 100:1 อันเป็นผลให้ ขณะนี้ จำนวนพนักงานพิการทุกสาขาทั่วประเทศ คือ 313 คน จากพนักงานทั้งหมดของบิ๊กซีกว่า 23,500 คน ทำให้ปัจจุบัน บิ๊กซีเป็นผู้ประกอบการห้างค้าปลีกแห่งแรกและแห่งเดียวที่มีจำนวนพนักงานพิการมากกว่าที่กฎหมายกำหนดกว่าร้อยละ 30 โดยพนักงานพิการเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว หากแต่ยังเกิดความภาคภูมิใจจากการยอมรับจากคนรอบข้าง ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อชุมชน พนักงานพิการที่ได้ร่วมงานกับบิ๊กซี ต่างพอใจกับลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งบิ๊กซีพยายามจัดให้ตรงกับความสามารถของแต่ละคน รวมทั้งสวัสดิการและรายได้ และพนักงานเหล่านี้ยังหาโอกาสให้กำลังใจแก่คนพิการด้วยกัน พร้อมเชิญชวนให้คนพิการอื่น ๆ มาทำงานกับบิ๊กซีอีกด้วย ผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้บิ๊กซี ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนคนพิการดีเด่นถึงสองปีซ้อน ในปี 2555 และ 2556”
หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ต่างกายไม่ต่างใจ ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข” นี้ ออกแบบหลักสูตรโดยวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และดำเนินการอบรมโดยอาจารย์อรอนงค์ สงเจริญ และคณะ เนื้อหาหลักสูตรมีทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติวิธีการช่วยเหลือคนพิการทางการมองเห็น คนพิการทางการได้ยิน และคนพิการทางการเคลื่อนไหว รวมถึงการฝึกพนักงานไม่พิการให้สามารถทำงานร่วมกับคนพิการหลากหลายประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำผลการอบรมไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม