กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--กทม.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 พ.ค. 48 เวลา 09.00 น.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการชุมคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภคของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 / 2548 โดยมี ศ.เกียรติคุณ พ.ญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพุทธิพงษ์ ปุณณะกันต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร นายปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภคของกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับผู้บริโภคโดยตรงจะมีเพียงแต่สำนักต่าง ๆ ที่จะช่วยดูแลทั้งทางด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมทั้งสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ที่จะช่วยดูแลทุกข์สุขและปัญหาของประชาชนทั่วกทม. ซึ่งภายหลังการปรับปรุงการให้บริการการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสายด่วน 1555 ก็มีประชาชนร้องทุกข์เข้ามามากขึ้นโดยมีหลายปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคโดยตรง กทม.จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของกรุงเทพมหานครขึ้น โดยเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาทั้งจากสายด่วน 1555 และช่องทางอื่น ๆ จะถูกนำมากลั่นกรองว่าเรื่องใด เกี่ยวข้องกับการถูกละเมิดสิทธิบ้าง ก็จะนำมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ กทม.สามารถเอื้อประโยชน์ในการทำงานของคณะกรรมการฯในด้านกฎหมายได้ โดยหากคณะกรรมการเห็นว่ากฎหมายใดล้าสมัยควรปรับปรุงก็สามารถผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.เพื่อให้ออกเป็นลักษณะข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและสามารถบังคับใช้ได้ โดยไม่ต้องรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้คณะกรรมการฯได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในกทม.เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ประชาชนถูกละเมิดสิทธิจนกลายเป็นความเคยชิน ดังนั้นคณะกรรมการฯจึงต้องดำเนินการให้ประชาชนได้สร้างฐานอำนาจและเครือข่ายของตนเองเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการฯ มี 3 ประการ คือ 1.การแก้ปัญหาที่มีอยู่แล้วและได้รับการร้องเรียน 2.การแก้ปัญหาเชิงรุกในปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้รับการร้องเรียน และ3.การให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบและการปฏิบัติตนหากถูกละเมิดสิทธิ โดยในเบื้องต้นคณะกรรมการฯได้เสนอให้มีการจัดโครงสร้างของคณะกรรมการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็นด้าน ๆ ได้แก่ ด้านสุขภาพอนามัย ด้านการขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ ด้านราคาสินค้า ปริมาณและคุณภาพ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย และด้านฝ่ายกฎหมาย โดยจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลแต่ละด้านและมีการแต่งตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบแต่ละด้านโดยตรงเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น--จบ--