สำหรับแผนแม่บทการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง ประกอบด้วย 8 แนวทางหลักได้แก่
1.การขยายผลการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP แบบเต็มรูปแบบให้ครอบคลุมทั้งสายการผลิต ตั้งแต่สถานแปรรูปเบื้องต้น โรงงานแปรรูป ฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และเรือประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือประมงนอกน่านน้ำ เรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำ และเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ที่ควรมีการสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดด้านแรงงาน
2.การจัดทำ GLP Platform ร่วมกันกับกระทรวงแรงงานภายใต้ความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการขยายผลGLP ในภาคประมงอย่างยั่งยืน
3. จัดระเบียบเรือประมงไทยเพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย(IUU) และการค้ามนุษย์ในภาคการประมง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการออกหน่วยเคลื่อนที่ หรือ Mobile Unit ร่วมกับกรมเจ้าท่าในการจดทะเบียนเรือ เพื่อเร่งรัดให้ผู้ประกอบการเรือประมงมาขอจดอาชญาบัตรทำการประมงให้ถูกต้องกับกรมประมง โดยปัจจุบันพบว่ามีจำนวนทะเบียนเรือเพิ่มขึ้นจาก 15,000 ลำในปี2553 เป็น 42,000 ลำในปัจจุบัน ทั้งนี้ กรมประมงจะเร่งรัดประสานกรมเจ้าท่าเพื่อเสนอให้มีการปรับแก้กฎระเบียบ ให้เรือขนาด 50 ตันกรอสขึ้นไปต้องทำการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง อีกทั้งกรณีเรือประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมประมงประมาณ 300 ลำนั้น จะได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการให้สวัสดิการแก่แรงงานของตนให้สามารถใช้โทรศัพท์ดาวเทียม ติดต่อพูดคุยกับครอบครัวของตนได้เป็นครั้งคราว หรือในเหตุกรณีจำเป็นด้วย
4. สนับสนุนการบูรณาการตรวจร่วมเรือประมงและแรงงานประมง
5.การตรวจตราเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำที่เข้า– ออกจากท่า โดยมอบหมายให้กรมประมง สนับสนุนเรือตรวจการประมงพร้อมเจ้าหน้าที่ในการบูรณาการตรวจร่วมเรือและแรงงานประมงเพิ่มเติมร่วมกับกระทรวงแรงงาน
6.การสนับสนุนจากกองทัพเรือ ช่วยตรวจตราเรือประมงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะ Joint Patrol เพื่อสอดส่องดูแล เพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย(IUU) และปัญหาการค้ามนุษย์บนเรือประมงนอกน่านน้ำในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
7. จัดการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการเรือประมงในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ควบคู่กันไปด้วย และ
8. การส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงของไทยในต่างประเทศผ่านการประชุมหรือแสดงสินค้าและอาหารทะเลในต่างประเทศ รวมถึงกรมประมงได้มีการจัดทำเว็บไซต์Good Fisheries Labour Practices และการจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์และมีแผนที่จะแจกจ่ายเอกสารเผยแพร่ไปยังสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรในต่างประเทศ รวมถึงขอความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อช่วยเผยแพร่ในต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าสินค้าประมงที่สำคัญของไทย
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มขับเคลื่อนแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงแล้ว โดยมอบหมายให้กรมประมงออกประกาศการจัดระเบียบเรือประมงในสัปดาห์หน้า เพื่อเร่งรัดให้ผู้ประกอบการมายื่นคำขออาชญาบัตรให้ถูกต้องภายใน 30 วัน อีกทั้งเร่งรัดติดตามผลการฝึกอบรมGLP แก่ผู้ประกอบการสถานแปรรูปเบื้องต้นและโรงงานแปรรูปเป็นครั้งที่2 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงสภาพการทำงานของสถานประกอบการ และได้เตรียมการขยายผล GLP ให้ครอบคลุมโรงงานแปรรูปอาหารทะเลและสถานประกอบการแปรรูปเบื้องต้นที่ผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มเติมอีกจำนวน260 แห่ง (จากเดิมเข้าร่วม GLP แล้ว 178 แห่ง) พร้อมกันนี้ได้หารือกับกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาปรับแก้กฎระเบียบเพื่อบังคับให้เรือประมงทุกลำต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมง(VMS)ทั้งได้ขอความร่วมมือจากสมาคมภาคเอกชนให้การสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในภาคประมงที่เสนอในแผนแม่บทด้วยเช่นกัน