การแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่ คสช พึงพิจารณา

จันทร์ ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๐๖
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดได้กลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวางมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้เคยสำรวจความเห็นของประชาชน และพบข้อสรุปเชิงนโยบายที่พึงพิจารณาบางประการ

ประชาชนต้องการอุตสาหกรรม

ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาในเชิงนโยบายก็คือประชากรส่วนใหญ่ (65.3% หรือสองในสาม) ในพื้นที่มาบตาพุดเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป มีเพียงหนี่งในสามที่เห็นว่าควรหยุดขยายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามหากนับรวมผู้ที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่มีความเห็น 22.2% แล้ว จะพบว่า ประชากรที่เห็นว่าควรหยุดขยายตัวมีอยู่ 26.6% หรือเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรที่เห็นควรให้อุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดควรจะขยายตัวต่อไป (51.1%)

หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า แม้ประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่เกิน 10 ปี ถึง 55% จะเห็นควรให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป แต่ก็ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรวมที่ 65.3% นอกจากนี้ แม้กลุ่มประชากรที่เป็นเจ้าของบ้านโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว ส่วนมากจะเห็นควรให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อไป แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ 65.3% เช่นกัน การนี้แสดงให้เห็นว่า ประชากรส่วนน้อยที่ไม่อยากให้อุตสาหกรรมขยายตัว คงคำนึงถึงความเคยชินในการอยู่อาศัยและการยึดติดกับอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครองเป็นสำคัญ

ทางออกในความเห็นของประชาชน

อาจกล่าวได้ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษนั้นน่าจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ยาก จากการสัมภาษณ์ประชาชน พบว่า สาเหตุของมลพิษสามารถสังเกตได้ประจักษ์ชัด ไม่ซับซ้อน ประชาชนต่างเห็นถึงการกระทำผิดกฎหมายในการปล่อยมลพิษอยู่เนือง ๆ เช่น การปล่อยแก๊สพิษในยามที่อากาศโปร่ง หรือการปล่อยน้ำเสียโดยไม่บำบัดในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่เนือง ๆ

ดังนั้นแนวทางการแก้ไขจึงอยู่ที่การตรวจสอบเพื่อควบคุมการกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้อย่างใกล้ชิด หากทางราชการหรือภาคประชาชนได้จัดตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางซึ่งใม่มีส่วนได้ส่วนเสียมาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมกับการรายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เชื่อว่าการปล่อยมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ จะลดน้อยลง

การที่ประชาชนในพื้นที่ยังมีความเชื่อว่าโรงงานจำนวนมากทั้งที่เป็นของบริษัทมหาชนหรือไม่ก็ตาม ยังมีการละเมิดกฎหมาย ละเมิดต่อผู้อยู่อาศัยหรือชุมชนโดยรอบนั้น ถือเป็นการประกอบอาชญากรรม และถือเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตรง ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และการฟ้องร้องเป็นราย ๆ ไป จึงน่าจะเป็นมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหามากกว่าการเหวี่ยงแห ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน

กระบวนการสร้างภาพพจน์ที่ดีของอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการไปอย่างจริงจังและตรวจสอบได้ ไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นไปตามความเชื่อของประชาชนที่ว่าเป็นการสร้างภาพมากกว่าความตั้งใจจริงในฐานะนักการอุตสาหกรรมมืออาชีพ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมก็ควรที่จะเข้าใจว่า การลดต้นทุนด้วยการแพร่กระจายมลพิษนั้น ย่อมส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมในระยะยาว เพราะจะถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่นั่นเอง

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

โดยที่มีความจำเป็นในการขยายตัวของอุตสาหกรรมในมาบตาพุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไทยทั่วประเทศ ในกรณีนี้อาจมีความจำเป็นต้องซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ดิน อาคารและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบางส่วนจากประชาชน โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ใกล้กับทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรม เพื่อมาเป็นพื้นที่ขยายตัวของอุตสาหกรรม และอาจเป็นพื้นที่กันชนกับพื้นที่อยู่อาศัย อันจะเป็นการป้องกันการได้รับผลกระทบจากมลพิษของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตามการซื้อหรือเวนคืนนี้ ควรจะจ่ายสูงกว่าราคาประเมินเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของทางราชการ และยังควรซื้อเท่ากับราคาตลาด หรืออาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับผลกระทบย้ายออกโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

จากข้อมูลการประมาณการของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2550 พบว่า มูลค่าตลาดของที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในจังหวัดระยองมีมูลค่ารวมกัน 356,165 ล้านบาท สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยในจังหวัดระยองตามข้อมูลของสำนักงานทะเบียนราษฎร์ ณ สิ้นปี 2551 มี 295,931 หน่วย แต่ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดมี 33,411 หน่วย หรือเพียง 11.29% จะสังเกตได้ว่าในมาบตาพุดมีที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ใกล้เคียงกับจำนวนครัวเรือน แต่บางหน่วยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัย เป็นการซื้อไว้เก็งกำไร จึงทำให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการซื้อหรือเวนคืนที่ดินมีไม่มากนัก

จากการวิเคราะห์ตัวเลขและมูลค่าที่อยู่อาศัยข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า มูลค่าที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดจึงควรเป็นเงินประมาณ 40,211 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้หากมีการซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องมีการขยายตัวจริง ก็คงมีมูลค่าไม่มากนัก คณะนักวิจัยคาดว่าคงเป็นเงินไม่เกิน 10% ของมูลค่ารวม หรือเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น หากรัฐจำเป็นต้องมีการซื้อที่ดินหรือการเวนคืน จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่และโดยรวมทั่วประเทศ

คณะนักวิจัยเชื่อว่าประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมยินดีที่จะย้าย ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งเป็นผู้เช่าซึ่งย้ายที่อยู่อาศัยได้ง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ย้ายออกไปแล้ว จากการสังเกตยังพบว่า เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่ดินชายหาดที่ตั้งอยู่ติดเขตอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งย้ายออกไปซื้อบ้านและที่ดินที่อยู่ห่างไกลออกไป และหากมีมลพิษมากจริงในอนาคต ประชาชนย่อมคำนึงถึงสุขภาพของตน ที่สำคัญที่สุดก็คือ หากรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีซื้อหรือเวนคืน ณ ราคาตลาด หรือสูงกว่าราคาตลาดตามสมควร โดยไม่ใช้ราคาเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการซื้อหรือเวนคืน ประชาชนย่อมยินดีย้ายออก ดั้งนั้นโอกาสในการจัดการพื้นที่ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ย่อมสามารถดำเนินการได้

นอกจากนี้ระบบการคมนาคมขนส่งในมาบตาพุดก็สะดวก การย้ายห่างออกไปอีกประมาณ 10-20 กิโลเมตร ให้พ้นจากพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษ น่าจะมีความเป็นไปได้สูง โดยเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังสามารถคำนวณเป็นค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมได้อีกด้วย

คำถามต่อตัวแทนภาคประชาชน

การที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นว่าอุตสาหกรรมควรขยายตัวต่อไปเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายนั้น อาจไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่บุคคลในพื้นที่ดังที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ว่า "ชาวชุมชนมาบตาพุดยื่นหนังสือให้รบ.ทบทวนตั้งกก.4ฝ่าย" จากข้อมูลของกรรมการภาคประชาชนในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด ทั้ง 4 ท่านคือ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นายสุทธิ อัชฌาศัย และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ พบว่า น่าจะมีคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่าผู้แทนภาคประชาชน โดยในรายละเอียดพบว่า:

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ท่านเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในตำแหน่ง "ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" และบ้านอยู่บางบัวทอง นนทบุรี

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ท่านเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นายสุทธิ อัชฌาศัย ท่านเป็นเจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ (NGO: Non-Governmental Organization) ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ เป็นคนจังหวัดระยอง

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ท่านเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 เป็นคนจังหวัดชุมพร มีบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเช่นกัน

ดังนั้น "ผู้แทนภาคประชาชน" ข้างต้น จึงไม่ใช่ผู้แทนของชาวมาบตาพุดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เลย แต่กลับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอยู่คนละข้างกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การแต่งตั้งในลักษณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้ถึงการไม่นำพาต่อความสำคัญและไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังไม่ได้ยึดหลักให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ใม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสินอนาคตของตนเอง แต่เป็นการถือเอาความเห็นของบุคคลภายนอกเป็นสำคัญ

ควรร่างรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับปี 2550

มาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุว่า "การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว" ในกรณีนี้น่าจะมีข้อที่ควรได้รับการแก้ไขบางประการ กล่าวคือ

1. การจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน อาจดำเนินการไปอย่างไม่เป็นกลาง หากมีอคติอาจรับฟังแต่กลุ่มกฎหมู่ หรืออาจฟังความเพียงข้างเดียวต่อกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ หรือมีอคติต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม กระบวนการที่สมควรจึงควรเป็นการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือการทำประชามติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ

2. การมี "องค์การอิสระ" ในแง่หนึ่งเป็นแนวคิดที่ดี แต่รัฐก็อาจแต่งตั้งเฉพาะผู้ที่ตนคุ้นเคยซึ่งอาจไม่เป็นกลาง และไม่มีมาตรฐานการแต่งตั้ง การจะมุ่งตั้งกรรมการเฉพาะที่เป็นผู้แทนองค์การเอกชนและผู้แทนสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งที่พึงทบทวนเป็นอย่างยิ่ง องค์การและสถาบันเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์มาตัดสินอนาคตของชุมชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ หรือผลประโยชน์ของชาติ การตัดสินใจที่ถูกต้องสมควรอยู่บนพื้นฐานการวิจัยอย่างรอบด้านด้วยระบบสหศาสตร์ มีการวิเคราะห์หักล้างกันด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ผ่านกระบวนการศึกษาอย่างจริงจัง โปร่งใส ไม่ใช่ไปยึดติดกับตัวบุคคลหรือสถาบันใด ซึ่งอาจมีอคติต่อการพัฒนา การมี "องค์การอิสระ" ตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้กลับแสดงชัดถึงการไม่เคารพเกียรติและศักดิ์ศรีของชุมชนอย่างแท้จริง ผิดกับเจตนารมณ์ที่อ้าง

3. สิทธิของชุมชนเป็นสิ่งที่พึงตระหนัก แต่ผลประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า การพัฒนาโครงการของชาติย่อมต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ ในขั้นตอนการวางแผนอาจไม่สามารถเล็งเห็นความจำเป็นได้ล่วงหน้าทั้งหมด ชุมชนบางแห่งก็เกิดขึ้นภายหลังการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงอาจมีความจำเป็นในการซื้อหรือเวนคืนทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยมาตราที่ 42 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุให้สามารถเวนคืนได้เพื่อ "กิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม . . ." ดังนั้นในกรณีมาบตาพุดนี้ หากมีความจำเป็นรัฐก็สามารถซื้อที่ดินหรือเวนคืนได้ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจริงน่าจะยินดี

ข้อเสนอแนะ

จากการศึกษาข้างต้น คณะนักวิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้:

1. ต่อกรณีการปล่อยมลพิษของโรงงานหลายแห่งในพื้นที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สมควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน มีการลงโทษโดยเคร่งครัด ทั้งต่อผู้รักษากฎหมาย โรงงาน กลุ่มบุคคลหรือองค์การอื่น

2. ภาคประชาชนควรจัดตั้งคณะทำงานเฝ้าระวัง ดำเนินการตรวจสอบต่อเนื่อง โดยอาจร่วมกับองค์การอิสระต่าง ๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ตลอดจนองค์การพัฒนาเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการต่อเนื่องเช่นนี้ จะเป็นการป้องปรามและสามารถนำกรณีการละเมิดกฎหมายและทุจริตพฤติมิชอบต่าง ๆ มาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การต่อสู้ขององค์การพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

3. โดยที่ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนสามารถชี้ได้ในเบื้องต้นแล้วว่า ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ยังประสงค์ให้กิจการอุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป แต่เพื่อความแน่ชัด รัฐอาจจัดทำประชามติโดยให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางล่วงหน้า ในการนี้รัฐพึงระวังไม่ให้องค์การใด ๆ พยายามบิดเบือน ทำลายการจัดประชุมเผยแพร่ข้อมูล หรือปิดกั้นการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ

4. รัฐควรพิจารณาปรับปรุงคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น โดยให้เปลี่ยนเป็นผู้แทนของชุมชนในพื้นที่จริงตามที่ประชาชนได้เรียกร้องไว้

5. รัฐอาจพิจารณาซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย ที่เกษตรกรรมและอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่จำเป็นสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงการจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม ซึ่งอาจจ่ายสูงกว่าราคาตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถูกเวนคืนยินดีที่จะย้ายออกโดยพลัน

6. รัฐควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการมีผู้แทนของภาคประชาชนในพื้นที่ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน โดยไม่ให้ความสำคัญเฉพาะนักวิชาชีพหรือองค์การบางกลุ่ม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. สุขสนุกกับเทศกาลอีสเตอร์ด้วย Boozy Bunnies Brunch ที่ The Standard Grill
๑๑ เม.ย. Mrs. GREEN APPLE วงป็อปร็อกญี่ปุ่นชื่อดัง ส่งเพลงใหม่ KUSUSHIKI ฉลองครบรอบ 10 ปีอย่างยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบ
๑๑ เม.ย. แลคตาซอย ส่งมอบนมถั่วเหลืองกว่า 70,000 กล่อง เสริมพลังกาย สร้างกำลังใจให้คนทุ่มเท ในการเดินทางช่วงสงกรานต์ 68
๑๑ เม.ย. สถาปนิก'68 เตรียมเปิดเวที ASA International Forum 2025 เชิญกูรูต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ
๑๑ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทุ่มงบกว่า 1 ล้านบาท ลงพื้นที่ สร้างสุข ใส่ใจ ผู้สูงวัย ในสถานสงเคราะห์ พร้อมแจกจ่าย ชุดของขวัญคลายร้อน
๑๑ เม.ย. คปภ. ทำงานร่วมกับ กทม. ลงพื้นที่ประสานงานกรณีตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เร่งตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยเพื่อดูแลผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
๑๑ เม.ย. โบว์-วิน สาดออร่าคู่! เนรมิตสงกรานต์ไอคอนสยามสุดอลังการ ในลุคนางสงกรานต์-เทพบุตรสุดปัง! พิธีเปิดงาน ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025
๑๑ เม.ย. รายการ หนูทดลอง Little Explorers EP ล่าสุด ชาบูโชว์ฝีมือการเป็นเชฟทำอาหาร และพาไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์สำหรับเด็ก
๑๑ เม.ย. ย้อนความเป็นมาวันสงกรานต์ พร้อมมีช่วงเวลาดี ๆ ไปกับวันเดอร์พัฟฟ์
๑๑ เม.ย. มหาสงกรานต์ ไอคอนสยาม เริ่มแล้ว!!! สัมผัสประสบการณ์สาดความสุข สนุกสไตล์ไทย ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION