ผลสำรวจแกรนท์ ธอนตันเผย ค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจทั่วโลกในไตรมาส 2 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะประเทศไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังติดลบต่อเนื่องกว่า 9 เดือน

จันทร์ ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๘:๐๑
ผลสำรวจล่าสุดในรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของแกรนท์ ธอนตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) แสดงให้เห็นถึงค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับตัวสูงขึ้น หลังจากติดลบอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ตลอดจนความคาดหวังในเรื่องของรายได้ ความสามารถในการทํากําไรและผลสำรวจสำรวจในด้านอื่น ที่ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน มีเพียงแค่ผลสำรวจในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Infrastructure) เท่านั้น ที่มีตัวเลขลดลงจากผลสำรวจไตรมาสที่ 1 ซึ่งอาจสะท้อนถึงความกังวลจากการเลื่อนประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G ความวุ่นวายจากการสิ้นสุดสัมปทาน 2G ของค่ายมือถือที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะทรูมูฟ และการถกเถียงถึงเรื่องรายได้จากค่าสัมปทานของรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม

นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “มันอาจไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ที่เราจะเห็นตัวเลขค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นทางธุรกิจในหลายๆ ด้านได้ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นสำหรับไตรมาสที่ 2 ผลสำรวจ IBR ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นดังกล่าวจะนำไปสู่การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายในด้านการตลาดและโครงการที่ช่วยส่งเสริมการขาย ภาคธุรกิจเองก็กำลังจับตามองแผนนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน จากทีมที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ ที่กำลังดีขึ้นเหล่านี้จะถูกทำให้ยั่งยืนในระยะยาว”

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยให้เห็นถึงค่าความคาดหวังในการขยายตัวด้านการส่งออกทั่วโลก ที่ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 24 ซึ่งนับเป็นตัวเลขสถิติสูงสุดอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 ไตรมาสที่ 2 เช่นกัน และถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้ตัวเลขค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากแรงหนุนของภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลข้อมูลการสำรวจได้เน้นย้ำให้ผู้ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ จำเป็นต้องทำงานเพื่อวางแผนและแนวทางร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมระหว่างประเทศ และผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระดับโลก

ผลสำรวจ IBR พบว่า ค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 46 และนับเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ได้เริ่มทำการสำรวจมา ซึ่งการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวนั้น ได้ถูกขับเคลื่อนโดยค่าทัศนคติเชิงบวกต่อธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ส่วนแถบอเมริกาเหนือก็มีค่าสูงถึงร้อยละ 73 และเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547 ขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7 ที่มีค่าถึงร้อยละ 53 ก็ถือเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจมาอีกเช่นกัน ทั้งนี้ความเชื่อมั่นและทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจดังกล่าว ได้ถูกผลักดันจากตัวเลขความคาดหวังในการขยายตัวด้านการส่งออกทั่วโลก ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24 ถือเป็นตัวเลขสถิติสูงสุดเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในผลสำรวจเมื่อปี 2554 มาก่อน โดยในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7 มีการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวเป็นร้อยละ 23 จากร้อยละ 16 ในไตรมาสก่อน

นายเอียน ได้กล่าวต่อว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตัวเลขในการขยายตัวด้านการส่งออกในปีนี้ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกประเทศ และถือเป็นแรงขับดันสำคัญที่ช่วยผลักดันระดับความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ไปสู่ระดับที่เราไม่ได้เห็นมานานกว่าทศวรรษ ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินอยู่ เหล่าผู้นำทางธุรกิจก็กำลังมองหาช่องทางหรือโอกาสในตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเซีย ช่วยทำให้ตลาดเกิดการขยายตัวและกลายช่องทางใหม่ในการกระจายสินค้าจากประเทศที่เจริญกว่า และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอยากได้สินค้าและบริการที่ทันสมัยมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายด้านการส่งออก ในการกำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจช่วยสร้างความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจของพวกเขาในระยะยาว”

ทั้งนี้ ตัวเลขความคาดหวังในการขยายตัวด้านการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดถึงร้อยละ 27 ซึ่งประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในภูมิภาคนี้ จากร้อยละ 4 ในไตรมาสก่อนเพิ่มเป็นร้อยละ 36 ส่วนสหภาพยุโรปเองก็ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 31 จากร้อยละ 25 ในไตรมาสก่อน โดยมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศเยอรมนีที่ร้อยละ 47 และสหราชอาณาจักรที่ร้อยละ 34 ในขณะที่ทางตอนใต้ของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 32 โดยประเทศสเปนและกรีซ ซึ่งมีค่าความคาดหวังในการขยายตัวด้านการส่งออก ติดอยู่ในห้าอันดับแรกจาก 34 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำทั่วโลกที่เข้าร่วมสำรวจ โดยอยู่ที่ร้อยละ 40 และร้อยละ 38 ตามลำดับ

นายเอียน กล่าวเสริมว่า “ในระยะนี้ ทางยุโรปเองกำลังให้ความสำคัญกับภาคการส่งออก การเติบโตในภูมิภาคยังคงค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นภาคธุรกิจจึงมองหาช่องทางจากการลงทุนในแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น อย่างกรณีแบรนด์สินค้าชั้นนำจากประเทศเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ได้รับการยอมรับในตลาดที่มีการขยายตัวสูงอย่างประเทศจีนมานานแล้ว ทำให้ประเทศสเปน สหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ กำลังพยายามเดินตามรอยอยู่เช่นกัน”

“จากการประชุมองค์การการค้าโลก ณ เกาะบาหลีในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พันธกรณีสำคัญเพื่อลดการกีดกันทางการค้าทั่วโลกอย่างหนึ่ง คือการจัดระบบการทำงานของราชการและลดความซับซ้อนของขั้นตอนสำหรับการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจช่วยสร้างมูลค่าให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งความคาดหวังในเรื่องความคืบหน้า เกี่ยวกับกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) และความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างแอตแลนติกกับสหภาพยุโรป (Transatlantic Trade and Investment Partnership: TTIP) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มันเป็นสัญญาณที่ชัดเจนสำหรับการวางแผนนโยบายว่า ภาคธุรกิจต้องการผลักดันด้านการส่งออก เพื่อช่วยในการขยายและฟื้นตัวของพวกเขาเอง การให้การอุดหนุนเพื่อการส่งออก การลดความล่าช้าในระบบราชการ และการให้ความสนับสนุนแก่บริษัทที่กำลังมองหาช่องทางส่งออกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถและควรนำมาใช้ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีกฎหรือบทบัญญัติมาช่วยในควบคุมดูแลการจัดการดังกล่าวอย่างถูกต้องด้วย แต่ก็ต้องระวังเพื่อไม่ให้กลายมาเป็นอุปสรรคแก่พวกเขาแทน”

การที่ค่าทัศนคติด้านบวกต่อธุรกิจและความคาดหวังในการขยายตัวด้านการส่งออกจากเหล่านักธุรกิจได้เพิ่มขึ้น อาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยผลสำรวจพบว่า มีถึงร้อยละ 28 ที่วางแผนจะเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาในปีถัดไป เมื่อเทียบกับร้อยละ 20 ในไตรมาสก่อน และถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยทำการสำรวจมา โดยในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มจากร้อยละ 25 ในไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 38 ขณะที่ยุโรโซนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22 ส่วนอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 24 และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 6 จากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

นายเอียน ได้กล่าวสรุปว่า “ค่าใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจกำลังมองไปข้างหน้า และคิดเกี่ยวกับการพัฒนาของสินค้าและบริการในระยะยาว เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละตลาดกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาแล้ว มันอาจยังสะท้อนให้เห็นถึงแผนการที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่หลายบริษัทได้กระจายหรือส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการของตนไปยังตลาดใหม่ในต่างประเทศแล้ว การทำความเข้าใจในตลาดใหม่เหล่านั้นย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจต่างมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาสินค้าของตนโดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะช่วยทำให้พวกเขาเข้าใจตลาด และสามารถขยายธุรกิจในประเทศเหล่านั้นได้อย่างมั่นคง"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ