นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์กรุงเทพ เปิดเผยว่า เครือโรงพยาบาลกรุงเทพได้พยายามในการพัฒนาศักยภาพทางด้านการบริการการแพทย์อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอกย้ำความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศ และลูกค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้เราได้ทุ่มงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เพื่อนำระบบ B-eXchange หรือ ระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านเวชระเบียน เข้ามาใช้ระหว่างโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยผสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในเครือฯ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ซึ่งระบบ B-exchange คือการเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ (Clinical) ที่ติดตามผู้ป่วยไปทุกที่ ดังนั้นไม่ว่าผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพสาขาใดก็ตาม คนไข้ก็จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องตามประวัติการรักษาที่เคยได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดทางการรักษาเนื่องมาจากไม่ทราบประวัติการรักษาล่วงหน้า เช่น การวินิจฉัยที่ซ้ำซ้อน การแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่มีฤทธิ์ขัดกัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจากการทำการตรวจวินิจฉัยซ้ำซ้อนที่เคยทำมาแล้วในอดีต อีกทั้งข้อมูลเวชระเบียนการรักษาของผู้ป่วยจะถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย ซึ่งระบบดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเชื่อมโยงฐานข้อมูลทางการแพทย์ในเครือข่ายเป็นที่แรกของเมืองไทย โดยเบื้องต้นตอนนี้เริ่มมาใช้ใน 3 เครือโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และปลายปี 2557 คาดว่าจะขยายระบบดังกล่าวให้สามารถใช้ได้ครอบคลุมถึงเครือโรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานในการขยายบริการไปสู่ระดับนานาชาติในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย
นายแพทย์ไมค์ แมคคอย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศทางการแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนไลน์ ซินเนอร์จี้ จำกัด อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยปกติสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ทุกโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีก็คือ “ระบบเวชระเบียน” (Medical Record/Health Record) ซึ่งก็คือระบบที่เก็บข้อมูลพื้นฐานและประวัติการตรวจรักษาทั้งหมดของคนไข้ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกบันทึกเก็บไว้ในแฟ้มกระดาษเป็นหลัก อีกทั้งระบบการแยกเก็บในแต่ละโรงพยาบาลไม่สามารถส่งต่อข้อมูลให้กับสถานพยาบาลอื่นๆ ได้โดยง่าย และในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลอื่น ก็จะต้องมีการตรวจ ซักประวัติทางการรักษา การแพ้ยา หรือข้อมูลตรวจแล็ปใหม่อีกครั้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้การรักษาเป็นไปอย่างล่าช้า และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเอง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เครือโรงพยาบาลกรุงเทพจึงได้ตัดสินใจนำระบบ B-eXchange ซึ่งพัฒนาระบบโดย บริษัท กรีนไลน์ ซินเนอร์จี้ จำกัด เข้ามาใช้เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลของผู้ป่วย อาทิ ข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน เลขที่ Passport ข้อมูลการมาใช้บริการในโรงพยาบาล เช่น การพบแพทย์ การเข้ารักษาตัว(admit) ในโรงพยาบาล การผ่าตัด และการวินิจฉัยโรคของแพทย์ ข้อมูลการทำหัตถการ ข้อมูลของยาที่ได้รับ ข้อมูลของภาพเอ็กซเรย์ และผลของการวินิจฉัยจากรังสีแพทย์ ข้อมูลการแพ้ยา ข้อมูลของผลแล็ป โดยระบบจะทำการบันทึกการเรียกดูข้อมูลทุกครั้งเพื่อตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย
ระบบ B-eXchange นั้นใช้ระบบรักษาความปลอดภัย Security 128 bit เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลคนไข้ระหว่างการเชื่อมต่อ และเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ข้อมูลก็จะถูกเก็บรวบรวมไว้ตรงส่วนกลางอย่างปลอดภัย โดยผู้ป่วยสามารถตัดสินใจที่จะยินยอมหรือไม่ยินยอม ให้ทางโรงพยาบาลเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยให้กับ โรงพยาบาลในเครือข่ายของบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการได้ โดยกรอกแบบฟอร์ม หากผู้ป่วยเลือก ยินยอม จะเป็นการยินยอมให้บุคคลากรทางการแพทย์ ในเครือข่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ เมื่อไปหาบุคคลากรทางการแพทย์นั้นๆ ในอนาคต หรือ ไม่ยินยอม จะทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ในเครือข่ายไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจในอนาคตโดยการยื่นฟอร์มใหม่ ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะในเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในกรณีที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างถิ่นไกลบ้าน และระบบจะนี้เชื่อมโยงฐานข้อมูลดังกล่าวสามารถเปิดได้จากคอมพิวเตอร์ และ Mobile Devices ทั้ง IPhone Ipad และ Android เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าระบบได้จากที่บ้าน ในอนาคตจะมี Patient Portal ให้คนไข้ได้ดูประวัติ พร้อมทั้งจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของคนไข้เองได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ระบบ B-eXchange มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยตามมาตรฐานของกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัว (Privacy) และการรักษาความลับ (Confidentiality) และมาตรฐาน JCI ในระดับสากล เฉพาะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่เซ็นอนุญาตยินยอมในแบบฟอร์มยินยอมเท่านั้น ผู้ป่วยสามารถร้องขอรายงานว่าใครเข้ามาดูข้อมูลของผู้ป่วยได้ตลอดเวลา โดยการใช้ Password และระบบการเข้ารหัส (encryption) จะทำให้ข้อมูลของผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ได้รับอนุญาตที่ถูกต้อง ซึ่งเครือโรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมที่จะสอบสวนการกระทำอันผิดกฎหมาย และละเมิดการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย ถ้ามีการละเมิดในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบได้ทันที