PPM เจาะตลาดคนกรุงฯ รุกนำเข้าเครื่องจอดรถ 2 ชั้น หวังขยายไลน์ธุรกิจ มั่นใจสินค้าใหม่ปั้นรายได้เพิ่ม

พุธ ๐๙ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๒:๐๖
บมจ.พรพรหมเม็ททอล หรือ PPM เดินหน้าเร่งขยายฐานธุรกิจเพิ่ม ล่าสุด รุกนำเข้าเครื่องจอดรถ 2 ชั้น หวังเจาะกลุ่มเป้าหมายอาคารสำนักงาน บ้านพักอาศัย มั่นใจสามารถตอบโจทย์ผู้มีสถานที่จอดรถจำกัด ด้านผู้บริหาร “ ชำนาญ พรพิไลลักษณ์ ” กรรมการผู้จัดการ ระบุ บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาแผนการตลาด คาด เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ได้ภายในไตรมาส 3/57 นี้ เชื่อสินค้าใหม่จะต่อยอดรายได้เพิ่มให้กับบริษัทฯ ในอนาคต พร้อมตั้งเป้าประมาณการอัตราการเติบโตของรายได้ในปีนี้ แตะ 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%

นายชำนาญ พรพิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรพรหมเม็ททอล จำกัด (มหาชน) หรือ PPM ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โลหะเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมและวัสดุเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการการศึกษาและทำตลาดในการนำเข้าเครนจอดรถ 2 ชั้น เพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศ โดยบริษัทฯ จะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายประเภทอาคารสำนักงาน บ้านพักที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัดสำหรับการจอดรถ

ทั้งนี้ มองว่าตลาดดังกล่าวยังคงมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยบริษัทฯ คาดว่าหากแผนการขยายช่องทางการตลาดดังกล่าวสำเร็จ จะส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้นำเครื่องจอดรถ 2 ชั้นมาทดลองใช้ที่อาคารสำนักงานของบริษัทฯ ซึ่งก็ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถจอดรถได้มากขึ้นถึงเท่าตัว ซึ่งต้องยอมรับว่าเครื่องจอดรถสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้ของคนเมืองได้มากขึ้น โดยแผนการทำการตลาดดังกล่าวจะเริ่มมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/2557 นี้

“ บริษัทฯ อยู่ระหว่างแผนการศึกษาและทำการตลาดในการนำเข้าเครื่องจอดรถ 2 ชั้น มาเจาะกลุ่มลูกค้าประเภทอาคารสำนักงาน บ้านพักที่อยู่อาศัย เนื่องจากบริษัทฯ มองว่ากลุ่มลูกค้าประเภทดังกล่าวยังมีความต้องการใช้พื้นที่สำหรับจอดรถเป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ มีข้อจำกัดในเรื่องที่จอดรถมีไม่เพียงพอต่อจำนวนรถ ” นายชำนาญกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ ในการให้บริการจอดรถในสถานีระบบขนส่งมวลชนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนว่า ในปัจจุบันการใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกที่มีความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ศึกษาจากรายได้และปริมาณผู้โดยสาร แต่ทว่า ผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาที่จอดรถที่มีอย่างจำกัดตามสถานีขนส่งมวลชน โดยเฉพาะสถานีชานเมืองที่ไม่สามารถทำการจองเวลาเข้า – ออก ได้ จึงมีความไม่แน่ใจว่า เมื่อมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนแล้วจะมีที่จอดรถหรือไม่

บริษัทฯ จึงได้ทำการศึกษาจากมหานครใหญ่ๆ ในต่างประเทศที่มีปัญหาการจราจรคับคั่งและมีปริมาณรถที่มากเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ โดยมีการจัดตั้งระบบ Park & Ride ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน โดยในปัจจุบันระบบดังกล่าวได้มีการใช้ที่สถานีลาดพร้าวและสถานีจตุจักร โดยได้มีการสร้างเป็นอาคารขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่า พื้นที่ให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ใช้บริการต้องมีความเสี่ยงในการหาที่จอดรถ นอกจากนี้ ยังต้องขับรถขึ้นอาคาร ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และในบางกรณียังเกิดปัญหาความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการสตรีที่มักมีพวกมิจฉาชีพถือโอกาสก่ออาชญากรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ระบบที่บริษัทฯ นำเข้ามาใช้ในการนี้ จะเป็นระบบที่เจ้าของรถนำรถเข้าจอดตามช่องที่กำหนด และล็อกรถ หลังจากนั้น ระบบจะนำรถเข้าเก็บอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากเวลาที่จะมารับรถ ผู้ใช้บริการสามารถจองเวลาเข้า - ออก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย โดยระบบจอดรถนี้จะมีเฉพาะพนักงานซ่อมบำรุงที่สามารถขึ้นได้เท่านั้น ดังนั้น รถที่ใช้บริการจะไม่เกิดความเสียหายใดๆ และรถทุกคันจะจอดอยู่ในที่ร่ม ระบบดังกล่าวจะมีความสูงตั้งแต่ 2-4 ชั้น

“ บริษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุนสร้างเครื่องจอดรถบนพื้นที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยจะมีการแบ่งรายได้จากการเก็บค่าบริการให้กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ คาดว่าจะทำให้มีประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นรายได้หลัก เพราะมีความสะดวกและปลอดภัยในการจอดรถ ประหยัดค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง เวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการจราจรที่คับคั่งในปัจจุบันซึ่งประเมินค่าไม่ได้ ” นายชำนาญ กล่าว

ส่วนแผนการขยายงานโครงการให้บริการพื้นที่เช่าศูนย์การค้าที่อำเภอศาลายาหลังมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้โครงการ “ The Salaya ” ซึ่งเป็น Education Hub บนพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร นั้น นายชำนาญ กล่าวว่า ขณะนี้ The Salaya ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว โดยบริษัทฯ จะมีรายได้จากพื้นที่เช่าและการให้บริการเข้ามาภายในปีนี้กว่า 40 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตของรายได้ในปีนี้ที่ระดับ 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการใช้บริการพื้นที่เช่าศูนย์การค้าที่ศาลายา รวมถึงรายได้จากการให้บริการพื้นที่จอดรถในสถานีรถไฟฟ้าและรายได้จากธุรกิจหลักที่มีการชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วจนถึงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งในปัจจุบันปัจจัยต่างๆ มีภาพที่ชัดเจนและดีขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม