สกว. จัดเวทีรายงานโลกร้อน ความจริงที่ทุกคนควรฟัง พร้อมเปิดตัวหนังสือ Climate@Risk

พุธ ๐๙ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๖:๒๓
โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานโดยสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ Global Warming Forum เรื่อง “รายงานโลกร้อน IPCC AR5 : ความจริงที่ทุกคนควรฟัง (IPCC AR5: A Convenient Truth)” เพื่อเผยแพร่ผลงานความรู้และข้อค้นพบสำคัญล่าสุดด้านวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบ การปรับตัว และความล่อแหลม สู่หน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์สำหรับขับเคลื่อนงานภาคนโยบายและต่อยอดสู่แผนปฏิบัติ พร้อมเปิดตัวหนังสือ “Climate@Risk: ความเสี่ยงโลกร้อนกับอนาคตประเทศไทย” หนังสือที่รวมบทความตีพิมพ์คอลัมน์ Climate@Risk ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจตลอดช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา

รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. กล่าวถึงสาระสำคัญของรายงานด้านวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ค.ศ. 2013 ของคณะทำงานกลุ่มที่ 1 ของ IPCC ว่า “IPCC หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนับมีบทบาทสำคัญกับสังคมโลกและสังคมไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลที่เกิดจากการทำงานของ IPCC ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนในลักษณะต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมา IPCC ได้ทำการสังเคราะห์และประมวลองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาแล้ว 4 ครั้ง ดำเนินการในทุกๆ 5 ปี ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 ที่นำข้อมูลครั้งก่อนมาต่อยอดให้เห็นพัฒนาการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ ซึ่งการทำงานของคณะที่ 1 จะเน้นการยืนยันบทบาทของมนุษย์ในการเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การให้ภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต และผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที”

“นับแต่เริ่มตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์พบว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในหลายๆ ลักษณะไม่เคยเกิดมาก่อนในห้วงช่วงเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา โลกร้อนเกิดขึ้นทั้งบนภาคพื้นทวีปและในมหาสมุทร เกิดการละลายน้ำแข็งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยพบการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ หลายประการ อาทิ แนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ. 1850-2012 เพิ่มขึ้น 0.85 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นบน (Troposphere) ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะซีกโลกเหนือ อัตรการค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลโลกระหว่างปี ค.ศ. 1901-2010 เพิ่มขึ้น 0.19 เมตร และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามวลน้ำแข็งและธารน้ำแข็งทั่วโลกได้ลดลงอย่างชัดเจน สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการและปริมาณ/ชนิดสารประกอบต่างๆ ในบรรยากาศทั้งโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์”

“ข้อสรุปหนึ่งที่สำคัญต่อการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคือ การปล่อยและสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศอันเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะยังคงอยู่เป็นเวลานานหลายศตวรรษแม้ว่าการปล่อยก๊าซจะหยุดไปแล้ว ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องหลายศตวรรษ” รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง กล่าวสรุป

ด้าน ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงรายงานประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคณะทำงานกลุ่มที่ 2 ของ IPCC ว่าด้วยผลกระทบ การปรับตัวและความล่อแหลม ค.ศ. 2014 ว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รายงานของ IPCC ได้ประเมินรูปแบบของความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นว่ามีการขยับและเลื่อนไปอย่างไร โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่อง “ความเสี่ยง” เนื่องจากมีนัยยะต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมรวมถึงคนรุ่นถัดไปในอนาคต ซึ่งเนื้อหาของรายงานในส่วนของผลกระทบและความล่อแหลมที่สังเกตได้ พบว่า ในช่วงทศวรรษเร็วๆ นี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อระบบธรรมชาติและระบบมนุษย์ทั่วทุกทวีปและข้ามมหาสมุทร และการละลายของหิมะและน้ำแข็งในหลายภูมิภาค มีผลให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดต้องปรับต่อต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำไปสู่การอพยพและจำนวนประชากร รวมทั้งส่งผลกระทบทางลบต่อผลผลิตพืชในหลายภูมิภาค ตลอดจนการตายที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นในบางภูมิภาค”

“ในด้านความเสี่ยงที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนับว่ามีความเสี่ยงสำคัญหลายประการ ทั้งที่มีผลกระทบต่อชีวิตและการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ภัยน้ำท่วมสำหรับประชากรในเมืองขนาดใหญ่ สภาวะความรุนแรงของลมฟ้าอากาศ ตลอดจนความเสี่ยงและเจ็บป่วยจากความร้อนที่สูงขึ้น ขณะที่ระบบนิเวศน์พบว่า มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียระบบนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่ง และระบบนิเวศน์บกและแหล่งน้ำจืด ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่างๆ บางส่วนถูกจำกัดเฉพาะภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ความเสี่ยงอื่นๆ อาจมีผลกระทบเชิงซ้อนแบบขั้นบันได คือจะซับซ้อนและมีความรุนแรงมากขึ้น”

“อย่างไรก็ตาม การจัดการความเสี่ยงในอนาคตและการสร้างความยืดหยุ่นต่อการลดความล่อแหลมจากความแปรปรวนของภูมิอากาศในปัจจุบันสามารถกระทำได้ อาทิ การลดความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์ การประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องให้รู้เท่าทันความเสี่ยง การปรับตัวต่อกิจกรรมการบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการเมือง เป็นต้น” ดร.อัศมน ลิ่มสกุล กล่าว

ทั้งนี้ รายงานโลกร้อน IPCC AR5 (The IPCC Fifth Assessment Report: AR5) ถือเป็นแหล่งข้อมูลหลักของโลกในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งล่าสุดได้เผยแพร่รายงานฉบับที่ 5 เมื่อปลายเดือนกันยายน 2556 และอยู่ระหว่างการจัดทำ Synthesis Report หรือรายงานการคิดเชิงสังเคราะห์ คาดว่าจะเผยแพร่สู่สาธารณะในเดือนพฤศจิกายนศกนี้

พร้อมกันนี้ ภายในงานมีการเปิดตัวหนังสือ “Climate@Risk: ความเสี่ยงโลกร้อนกับอนาคตประเทศไทย” ซึ่งหนังสือดังกล่าวรวบรวมบทความที่เขียนโดยผู้ประสานชุดโครงการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย นายศุภกร ชินวรรโณ ผู้ประสานงานชุดโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว. และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ประสานงานชุดโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม สกว. โดยบทความต่างๆ ได้ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ Climate@Risk หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเป็นประจำทุกเดือนในช่วงต้นปี 2555 - ต้นปี 2557 ผู้สนใจสามารถหาซื้อหรือติดต่อได้ที่ศูนย์หนังสือ สกว. เบอร์ 0-2278-8200 ต่อ 8322

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version